10 ประเภทของฝนที่ตกบนดาวดวงอื่น แปลกประหลาดจนไม่คิดว่าจะมีอยู่จริง

ฝน หิมะ ลูกเห็บ ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราพบเห็นได้เป็นปกติบนโลกใบนี้ โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศว่าจะเจออะไรมากกว่ากัน แต่คุณเคยคิดหรือไม่ว่า สภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่ใช่บนโลกใบนี้ จะมีฝนตกมาเป็นแบบไหน ? วันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านมาชมฝนประเภทต่างๆ ที่ตกขึ้นบนดาวดวงอื่น และรับรองว่ามันแปลกประหลาดจนคุณคาดไม่ถึงแน่นอน

1. ฝนหิน

นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาว COROT-7b ในปี 2009 โดยมันมีขนาดใหญ่เกือบ 2 เท่าของโลก แต่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์เพียงแค่ 2.5 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น (เทียบกับดาวพุธที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดยังห่างถึง 47 ล้านกิโลเมตร) และนั่นเป็นสาเหตุที่ดาวดวงนี้ถูกแรงโน้มถ่วงล็อคให้หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ของมันเสมอ ประกอบกับอุณหภูมิพื้นผิวที่สูงถึง 2,327 องศา และเต็มไปด้วยลาวา จึงทำให้หินหลอมเหลวเหล่านี้ระเหยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศจนเกิดการควบแน่นเป็นเมฆหิน และแตกสลายลงมากลายเป็นฝนหินอันร้อนระอุกลับลงมาในทะเลลาวาอีกครั้ง วัฏจักรเหล่านี้ก็คล้ายกับวัฏจักรของน้ำและฝนบนโลกเรานั่นเอง

2. ฝนแก้ว

ดาวเคราะห์นอกระบบที่ชื่อ HD 189733b ถูกพบโดยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลเมื่อปี 2005 โดยดาวสีน้ำเงินขนาดยักษ์นี้มีสมญานามว่า “ดาวพฤหัสร้อน” เนื่องจากมันเป็นดาวแก๊สยักษ์ที่โคจรใกล้ดวงอาทิตย์มาก และถึงมันจะมีสีน้ำเงินสดใส แต่มันแตกต่างกับโลกโดยสิ้นเชิง เพราะสีน้ำเงินของมันเกิดจากฝนแก้วที่บ้าคลั่งพัดกระหน่ำภายใต้ความเร็วลมถึง 8,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าความเร็วเสียงถึง 7 เท่า ส่วนสาเหตุของการเกิดฝนแก้วก็คือชั้นบรรยากาศของดาวดวงนี้เต็มไปด้วยเมฆที่ปลดปล่อยอนุภาคซิลิเกตที่เป็นแก้วออกมา เมื่อประกอบกับความร้อนบนพื้นผิวที่สูงถึง 930 องศาเซลเซียส จึงทำให้แก้วเหล่านี้ละลายและถูกพัดไปตามแรงลมที่รุนแรง

3. หิมะน้ำแข็งแห้ง

ปรากฏการณ์นี้ดาวอังคารเพื่อนบ้านของเราส่งเข้าประกวด โดยนักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าพบว่ามีหิมะตกบนดาวอังคารจากกลุ่มเมฆที่อยู่รอบๆ ขั้วใต้ของดาวอังคาร ซึ่งขั้วใต้ของดาวอังคารนั้นเป็นแหล่งของคาร์บอนไดออกไซด์เย็นหรือ “น้ำแข็งแห้ง” ที่ปกคลุมตลอดทั้งปี ส่วนเมฆที่ปกคลุมดาวอังคารส่วนใหญ่มีองค์ประกอบเป็นคาร์บอนไดออกไซด์หรือเกล็ดน้ำแข็งของบรรยากาศ ซึ่งเมฆเหล่านั้นหนาพอที่จะตกเป็นหิมะบนพื้นผิวดาวเคราะห์

4. ฝนอัญมณี

HAT-P-7b คือดวงดาวนอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากโลกราวๆ 1,000 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสถึง 40% และโคจรรอบดาวฤกษ์ที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 2 เท่าในระยะทางที่ใกล้มาก และหันหน้าเข้าหาเพียงด้านเดียวเสมอ นั่นเป็นสาเหตุให้ด้านสว่างและด้านมืดของดาวดวงนี้มีอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมาก เมฆบนดาวดวงนี้ก่อตัวขึ้นจากด้านมืดของดวงดาว และถูกลมที่รุนแรงพัดไปยังด้านที่หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ ก่อนที่จะระเหยกลายเป็นไอ แต่เนื่องจากเมฆบนดาว HAT-P-7b นั้นประกอบไปด้วยแร่คอรันดัม ที่ใช้ผลิตไพลินและทับทิมบนโลกเรา นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ฝนจากเมฆคอรันดัมกลายเป็นฝนอัญมณีในที่สุด

5. หิมะครีมกันแดด

Kepler-13Ab คือหนึ่งในดาวเคราะห์นอกระบบที่ร้อนระอุที่สุด โดยมีอุณหภูมิตอนกลางวันสูงถึง 2,760 องศาเซลเซียส แต่เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่มันหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ของมันเพียงด้านเดียว และนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบไททาเนียมไดออกไซด์ ที่เป็นส่วนประกอบหลักของครีมกันแดดมีอยู่ในเฉพาะด้านมืดเท่านั้น พวกเขาเชื่อว่าลมพายุที่รุนแรงได้พัดสารประกอบจากด้านสว่างไปยังด้านมืดซึ่งมีอุณหภูมิที่เย็นกว่าและเกิดการควบแน่นกลายเป็นเมฆ จนเกิดเป็นหิมะไททาเนียมไดออกไซด์ ตกลงมาตามแรงดึงดูดของดาว

6. ฝนน้ำพุยักษ์

เอนเซลาดัส ดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของดาวเสาร์ สร้างความฉงนให้กับนักวิทยาศาสตร์มานานกว่า 14 ปีแล้ว เนื่องจากบนดาวดวงนี้มีน้ำพุยักษ์หรือภูเขาไฟน้ำแข็ง ที่พ่นอนุภาคน้ำแข็งขนาดเล็กที่ไม่รู้มาจากไหน ขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงกว่า 250 กิโลเมตรทุกๆ วินาที ซึ่งอนุภาคบางส่วนตกกลับสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในรูปของหิมะ บางส่วนกระจายสู่อวกาศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนดาวเสาร์ แม้กระทั่งบางส่วนได้กระจายไปถึงดาวเสาร์ เนื่องจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีหลักฐานการปรากฏอยู่ของน้ำ นาซ่าจึงได้ประกาศว่า เอนเซลาดัสคือ “สถานที่นอกโลกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในระบบสุริยะเท่าที่รู้จักมา”

7. ฝนกรด

ถึงแม้ว่ากำเนิดของดาวศุกร์กับโลกจะคล้ายกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายพันล้านปี ดาวเคราะห์ทั้งคู่ต่างมีวิวัฒนาการที่แตกต่างกันไปจนตอนนี้ได้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บรรยากาศของดาวศุกร์นั้นเข้าขั้นเลวร้ายเพราะเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีฝุ่นกำมะถัน จากการระเบิดของภูเขาไฟคละคลุ้ง รวมตัวกับไอน้ำเกิดเป็นเมฆสีเหลืองห่อหุ้มหนาทึบและกลายเป็นฝนกรดกำมะถัน ซึ่งจะตกเฉพาะในชั้นบรรยากาศที่สูงกว่าพื้นผิว 30 กิโลเมตรขึ้นไป เพราะมันจะระเหยหายไปก่อนที่จะตกถึงพื้นเพราะความร้อนนั่นเอง

8. ฝนมีเทน

ไททัน คือดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และมันยังเป็นสถานที่่เพียงแห่งเดียวในระบบสุริยะของเราที่มีฝนตกเป็นของเหลวลงบนพื้นแข็ง แต่นั่นไม่ใช่น้ำเหมือนกับโลกแต่อย่างใด แต่กลับเป็นมีเทนเหลว ซึ่งจากการที่มีฝนมีเทนตกลงมาทำให้ดวงจันทร์แห่งนี้มีของเหลวไหลเวียนอยู่บนพื้นผิว เกิดเป็นระบบแม่น้ำและดินดอน มีช่องทางน้ำไหล มีการกัดเซาะของหน้าดิน และถ้าเปรียบเทียบปริมาณฝนมีเทนบนดาวไททันตก 1 ครั้ง ปริมาณน้ำของมันก็พอๆ กับปริมาณน้ำที่มาจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ ที่ถล่มเมืองฮุสตันในปี 2017

9. ฝนเพชร

ปรากฏการ์ฝนตกเป็นเพชรเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงมานานบนดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส แต่เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแม้แต่ดาวพฤหัสและดาวเสาร์เองก็มีฝนที่ตกเป็นเพชรได้เช่นกัน เนื่องจากพายุฟ้าคะนองอันรุนแรงในชั้นบรรยากาศของดาวทั้งสอง ทำให้อนุภาคคาร์บอนก่อตัวขึ้น แล้วโปรยปรายผ่านม่านก๊าซลงสู่พื้นผิว ความดันมหาศาลในชั้นบรรยากาศจะบีบอัดธาตุคาร์บอน จนกลายเป็นก้อนเพชร เมื่อลงถึงพื้นผิวก้อนเหล่านี้จะหลอมละลายเป็นเพชรเหลว กลายเป็นทะเลเพชรในที่สุด

10. ฝนพลาสม่า

ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ IRIS ได้จับภาพพลาสม่าร้อนที่พื้นผิวของดวงอาทิตย์ได้โดยปรากฏให้เห็นที่เส้นขอบฟ้าพอดี โดยเริ่มจากการระเบิดและแผ่รังสีอย่างรุนแรง จากนั้นสนามแม่เหล็กจำนวนมหาศาลจะถูกปลดปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ จนเกิดเป็นฝนพลาสม่าเคลื่อนที่ไปตามแนวสนามแม่เหล็ก จากนั้นก็ตกลงสู่พื้นผิวดวงอาทิตย์อีกครั้ง

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : listverse | เรียบเรียงโดย เพชรมายา