บริษัทเอเจนซีเผยวิธีสร้างเน็ตไอดอลปลอม ปั่น Follower รับเงินจากแบรนด์สินค้า

Influencer หรือกลุ่มคนผู้มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ทั่วๆ ไม่ว่าจะเป็นแอดมินเพจดัง เน็ตไอดอล ดารานักแสดง หรือใครก็ตามที่คนติดตามจำนวนมากก็สามารถเป็น Influencer ได้ทั้งนั้น ซึ่งคุณรู้หรือไม่ในอุตสาหกรรมโฆษณาของบรรดาผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญ และนี่แค่เฉพาะบนอินสตาแกรมเท่านั้น

 

คุณอาจมองว่าการที่จะเป็น Influencer บนไอจีเป็นเรื่องยาก แต่บริษัทเอเจนซี่การตลาดอย่าง Mediakix ได้แสดงให้เราเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่คุณจะกลายเป็น Influencer โดยพวกเขาได้ทำการทดลองนี้ขึ้นเพื่อพิสูจน์ให้คุณเห็น

 

Mediakix ได้สร้างบัญชีปลอมบนไอจีมา 2 บัญชี บัญชีแรกคือ อเล็กซา เร (calibeachgirl310) เป็น Influencer แนวแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ส่วนบัญชีที่ 2 คือ อแมนดา สมิธ (@wanderingggirl) เป็น Influencer แนวท่องเที่ยวผจญภัย และสร้างคอนเทนท์ด้วยภาพถ่ายฟรีที่หาได้จาก Free Stock และเป็นภาพเซ็ตที่ถูกถ่ายในวันเดียว

 

หลังจากมีภาพมากพอจนน่าเชื่อถือ พวกเขาก็ใช้วิธีซื้อผู้ติดตามเพื่อเพิ่มยอด Follower ปลอมเข้ามา (Mediakix ระบุว่าซื้อมาจากหลายแอพและหลายเว็บไซต์)

 

“เราเริ่มด้วยการซื้อยอดผู้ติดตาม 1,000 คนต่อวัน เพราะเราเป็นห่วงว่าการซื้อยอดผู้ติดตามจำนวนมากจะดูโจ่งแจ้งไป และอินสตาแกรมอาจจับตาบัญชีเรา”

 

“อย่างไรก็ตาม เราพบว่าเราสามารถซื้อผู้ติดตามได้มากถึง 15,000 คนในครั้งเดียว โดยที่ไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา”

 

ส่วนค่าใช้จ่ายที่พวกเขาใช้ อยู่ระหว่าง 3-8 เหรียญ (100-265 บาท) ต่อผู้ติดตาม 1,000 คน

 

“หลังจากที่เรามีผู้ติดตามหลายพันคนทั้ง 2 บัญชี เราจึงเริ่มซื้อ Like และ Comment ปลอม”

 

Mediakix จ่ายค่าการมีส่วนร่วมเหล่านี้ไป 12 เซนต์ (4 บาท) ต่อ 1 Comment และ 4-9 เหรียญ (132-298 บาท) ต่อ 1,000 Likes และภายในเวลาไม่นาน บัญชีปลอมของ Mediakix ก็มีผู้ติดตามมากกว่า 10,000 คน จนพวกเขาสามารถนำไปขายสปอนเซอร์ได้

 

สุดท้าย ทั้ง 2 บัญชีมีแบรนด์ที่ยอมจ่ายเพื่อโปรโมทสินค้า บัญชีละ 2 เจ้า โดยพวกเขาใช้เงินไปประมาณ 1,000 เหรียญ (33,210 บาท) เท่านั้น

 

บัญชีไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ได้สปอนเซอร์เป็นชุดว่ายน้ำและอาหารนานาชาติ ส่วนบัญชีท่องเที่ยวได้สปอนเซอร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารนานาชาติเจ้าเดียวกัน และที่สำคัญ ทุกบริษัทเสนอสินค้าของพวกเขาให้ฟรีๆ

 

และนี่ก็คือการทดลองกึ่งๆ แฉ ของการสร้างบัญชีไอจีปลอมในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยเองก็ไม่รู้ว่ามีการสร้างบัญชีปลอมเหล่านี้กันมากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้นักการตลาดได้ตระหนักว่า การลงโฆษณากับ Influencer ที่แท้จริง ควรมีการตรวจสอบบัญชีให้ดีว่า พวกเขามีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่บัญชีปลอมที่ถูกปั่นขึ้นมาแบบนี้

 

กดถูกใจและสามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : mediakix.com | เรียบเรียงโดย เพชรมายา