ปริศนาสัตว์ประหลาด “ทัลลี่” สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ ที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้

ในอดีตที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีได้ทำการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์มากมาย แต่คงไม่มีตัวไหนที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเกาหัวแกรกๆ มานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว

 

สัตว์ประหลาด “ทัลลี่” (Tully Monster) กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย หลังจากที่นักสะสมนามว่า ฟรานซิส ทัลลี่ ค้นซากของมันในปี 1955 หรือเมื่อ 62 ปีที่แล้ว

 

ทัลลี่ มีชีวิตอาศัยอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 307 ล้านปีก่อนในบริเวณปากอ่าวชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอิลลินอยส์

 

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงสับสนมานานกว่า 6 ทศวรรษก็คือ ความยากที่จะระบุว่า มันเป็นสัตว์สายพันธุ์ไหน หรือประเภทไหนกันแน่ เพราะรูปร่างที่แปลกประหลาดของมัน ไม่เหมือนสัตว์ชนิดใดบนโลกใบนี้นั่นเอง

 

รูปร่างเจ้าทัลลี่เหมือนกับจรวดตอปิโด มีดวงตาที่เหมือนกิ่งก้านยืดออกมาจากบริเวณกลางลำตัว แม้แต่ทิศทางหัวและหางก็ยังเป็นข้อถกเถียงที่สรุปไม่ได้เสียที

 

 

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 หลังจากการค้นพบซากฟอสซิลเจ้าทัลลี่ มีรายงานออกมามากมายว่ามันอาจเป็นสัตว์จำพวกหนอน

 

หลังจากนั้นไม่นานก็มีการโต้เถียงว่ามันอาจเป็นสัตว์จำพวก มอลลัสก์ คือพวกสัตว์ลำตัวนิ่ม ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างปลาหมึกหรือหอย นอกจากนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งอีกว่า มันน่าจะเป็นสัตว์จำพวกอาร์โทรพอด อย่างเช่น ล็อบสเตอร์ มากกว่า

 

แต่ล่าสุดเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา มีงานวิจัย 2 ชิ้นที่เชื่อว่า ทัลลี่น่าจะสัตว์ประเภทมีกระดูกสันหลัง โดยงานวิจัยชิ้นแรกเผยผลการศึกษาซากฟอสซิลกว่า 1,200 ชิ้น ระบุว่าทัลลี่มีโครงสร้างอวัยวะภายในที่เหมือนกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และฟันของมันยังดูคล้ายกับปลาแลมป์เพรย์อีกด้วย

 

แต่งานวิจัยชิ้นที่ 2 ของ ดร. ลอเรน ซัลลัน และทีมงานจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียกล่าวว่า ทีมวิจัยแรกยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเก็บฟอสซิลในแถบนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ทางทะเล

 

โดย ดร.ลอเรนกล่าวว่า คุณจะเห็นแต่เนื้อเยื่อ่อน ไม่มีทางเห็นโครงสร้างภายใน แถมปลาแลมป์เพรย์ที่พบในพื้นที่ดังกล่าวก็ไม่คล้ายกับเจ้าทัลลี่เอาเสียเลย

 

ส่วนงานวิจัยอื่นๆ ในปี 2016 ยังระบุถึงการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนศึกษาดวงตาของทัลลี่ และเผยให้เห็นโครงสร้างที่เรียกว่า Melanosomes ที่ทำหน้าที่ผลิตและจัดเก็บเมลานิน

 

และด้วยโครงสร้างดวงตาที่ซับซ้อนลักษณะนี้ ทัลลี่จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังมากสัตว์ประเภทอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่เสมอไป เพราะยังมีสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างหมึกยักษ์ ก็มีโครงสร้างดวงตาที่ซับซ้อนเช่นกัน

 

และนี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในสัตว์ประหลาดยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่อาศัยอยู่บนโลกนี้เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคตเราอาจเข้าใจเจ้าทัลลี่มากขึ้น รวมไปถึงสัตว์ดึกดำบรรพ์ประเภทอื่นๆ คงมีให้เราเห็นมากขึ้นอีกด้วย

 

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : phys | เรียบเรียงโดย เพชรมายา