10 นวัตกรรมทางการแพทย์ในอนาคต ที่สามารถเปลี่่ยนชีวิตลูกหลานเราได้

ลองนึกย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว มนุษย์เราเองมีเทคโนโลยีที่ล้าสมัยกว่าในปัจจุบันมาก ซึ่งคุณสามารถเห็นได้ชัดจากเทคโนโลยีรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ที่เปลี่ยนจากจอตู้มาเป็นจอแบน คอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัยขึ้นมาก สมาร์ทโฟนที่รวมทุกสิ่งอย่างไว้ในโทรศัพท์เครื่องเดียว สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชีวิตของผู้คนในยุคใหม่แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง วันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านมาชมนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เชื่อว่าจะเปลี่ยนโลกของเราและชีวิตลูกหลานต่อไปได้ในอนาคต มาลองดูกันว่าในอีกไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ เราจะต้องเจอกับนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ อีกบ้าง

1. โฮโลแกรมศึกษากายวิภาค

ไมโครซอฟต์กำลังดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีแว่นตาพร้อมหูฟังแบบ Headset ที่เรียกว่า HoloLens ซึ่งสามารถแสดงผลของภาพเสมือนจริงหรือภาพโฮโลแกรม ที่ให้ผู้สวมใส่ มองเห็นวัตถุจากโลกดิจิตอลในโลกจริงได้ และยังสามารถจับต้องได้ด้วย ด้วยการควบคุมผ่านมือเปล่า โดยไม่จำเป็นต้องใส่เซ็นเซอร์ควบคุมภายนอกแต่อย่างใด นอกจากมันจะถูกนำไปใช้ในโลกของความบันเทิงแล้ว ทางการแพทย์ มันสามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษาด้านกายวิภาค เพื่อให้แพทย์สามารถเข้าใจส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

2. คอนแทคเลนส์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

นี่คือ สมาร์ท คอนแทคเลนส์ จากกูเกิ้ล ที่มีการฝังชิปเซ็นเซอร์ขนาดจิ๋วและเสาอากาศไร้สาย ที่สามารถช่วยวัดระดับน้ำตาลในน้ำตา ให้กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โดยคอนแทคเลนส์ตัวนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเจาะเลือดไปตรวจ โดยเปลี่ยนไปเช็คผ่านน้ำตาแทน เรียกได้ว่าคุณสามารถทราบระดับน้ำตาลของตัวเองได้ในทุก ๆ วินาที

3. นวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติ

หรือที่เราเรียกกันว่า 3D Printing ซึ่งมีการใช้อยู่แล้วในปัจจุบันนี้ โดยทาง e-NABLE องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร ที่มีกลุ่มนักคิด นักพัฒนา วิศวกร บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากทั่วโลก มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมและการออกแบบมือเทียมที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นอกจากนั้นพวกเขายังสนับสนุนให้พ่อแม่เด็กเรียนรู้ที่จะสร้างมือเทียมขึ้นมาเองได้อีกด้วย

4. พิมพ์อวัยวะ 3 มิติ

ในปี 2011 ทางบริษัท Invetech ได้สร้างเครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ (3D Bioprinting) ที่สามารถพิมพ์เนื้อเยื่อมนุษย์ได้ด้วยการนำวัสดุหรือเซลล์ที่มีชีวิตมาเรียงซ้อนกันเพื่อสร้างชิ้นส่วนตามต้องการ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญทางการแพทย์ในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของมนุษย์ รวมถึงการสร้างอวัยวะใหม่เพื่อใช้ในการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในอนาคต

5. พิมพ์ยาได้เอง

ประโยชน์ของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติยังมีอีกมากมายมหาศาล นอกจากการพิมพ์อวัยวะเทียม อวัยวะชีวภาพ เจ้าเครื่องนี้ยังสามารถพิมพ์ยาขึ้นมาได้โดยที่ไม่ต้องใช้การบีบอัดเหมือนกับยาทั่ว ๆ ไป และนั่นจะทำให้ยาตัวใหม่นี้ละลายเร็วขึ้น และทำให้ร่างกายดูดซึมได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

6. มีดผ่าตัดอัจฉริยะ

iKnife คือมีดผ่าตัดอัจฉริยะ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้แพทย์ใช้ต่อสู้กับผ่าตัดมะเร็ง ปัญหาของการผ่าตัดเนื้อร้ายโดยส่วนใหญ่ก็คือ แพทย์ไม่สามารถทราบได้อย่างชัดเจนว่าขอบเขตของเนื้อร้ายจะไปสิ้นสุดตรงไหน การตัดชิ้นเนื้อมากเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวมากขึ้น แต่ถ้าตัดน้อยเกินไป เนื้อร้ายที่หลงเหลืออยู่จะลุกลามกลับมาได้อีก แต่มีด iKnife นี้จะสามารถบอกได้ทันทีเพียงแค่จี้ลงไปว่า พื้่นที่ตรงนี้เป็นเซลล์มะเร็งหรือว่าเซลล์ปกติ เรียกได้ว่ามีดอัจฉริยะของจริงก็ว่าได้

7. เทคโนโลยีการถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัยที่ดียิ่งขึ้น

การรักษาโรคจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องเสียก่อน ในปัจจุบันคุณสามารถพบเครื่องมือทางรังสีวิทยาเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคได้ เช่น เครื่องเอ็กซ์เรย์ หรือเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI) แต่ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดนี้จะทำให้แพทย์สามารถเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และตรวจจับความผิดปกติทางชีวภาพได้ดียิ่งขึ้น ลองจินตนาการถึงเครื่องที่คุณสแกนแล้วรู้ทันทีว่าคุณเป็นโรคอะไร โดยที่ไม่ต้องเห็นเป็นภาพขาวดำหรือกราฟเส้น ๆ ที่ต้องให้แพทย์วิเคราะห์ต่อ

8. ชิปฝังอวัยวะภายใน (Organ-on-chips)

นี่คือชิปฝังอวัยวะภายใน ผลงานการออกแบบจากสถาบัน Wyss โดยชิปดังกล่าวจะทำงานร่วมกับอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด ตับ ลำไส้ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและการรักษาของอวัยวะภายในร่างกาย โดยชิปนี้ผลิตจากโพลิเมอร์ที่มีความโปรงใสขนาดเท่ากับ Memory Stick เท่านั้น คาดว่าต่อไปในอนาคต ชิปตัวนี้จะถูกพัฒนาให้เล็กลง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

9. หุ่นยนต์พยาบาล

นี่ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะมาช่วยคุณทำงานบ้านเหมือนในภาพยนตร์ไซไฟที่เราเห็นกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างเจ้าหุ่นยนต์ TUG ตัวนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล เนื่องจากมันสามารถเก็บเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ได้มากถึง 450 กิโลกรัม และยังมีความสามารถช่วยอุ้มผู้ป่วยลงจากรถเข็นลงสู่เตียงและวีลแชร์

10. ประวัติการแพทย์ส่วนตัวของคุณเอง

คุณเคยคิดหรือไม่ว่า ทำไมประวัติการรักษาของคุณถึงต้องไปอยู่กับโรงพยาบาล และเวลาที่คุณย้ายโรงพยาบาลหรือไม่หาหมอที่อื่นก็ต้องวุ่นวายมานั่งอธิบายใหม่ว่าคุณเป็นอะไร หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ คุณไม่ได้รับอนุญาตให้ดู หรือที่แย่สุด ๆ ก็คือมันหายไปโดยที่คุณไม่สามารถเรียกคืนได้ นั่นเป็นเพราะข้อมูลด้านสุขภาพของคุณนั้นถือเป็นของโรงพยาบาล แต่ต่อไปในอนาคต ทุกคนจะมีข้อมูลสุขภาพและประวัตการรักษาเก็บไว้เป็นส่วนตัวที่สามารถพกพาไปหาโรงพยาบาลไหนก็ได้

และนี่ก็คือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เราอาจเห็นได้ในอนาคต แต่ไม่รู้ว่าเราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ในเมืองไทยเมื่อไหร่ หรือต้องรอให้พี่ตูน (ตอนอายุ 80) วิ่งหาเงินให้โรงพยาบาลครบ 1 พันแห่งก่อนก็เป็นได้

ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา