12 ความจริงที่พิสูจน์ว่า เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับจักรวาล

ต้องขอบคุณองค์การนาซ่า และหน่วยงานด้านอวกาศอื่นๆ ที่ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากในโลกเราใบนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ตัวเล็กๆ ไม่อาจหยั่งถึงได้ ความกว้างใหญ่ของจักรวาลทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ไม่มีวันสิ้นสุด วันนี้เพชรมายาจึงขอหยิบยกหลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลที่จะพิสูจน์ว่า พวกเรายังรู้น้อยมากเกี่ยวกับจักรวาลนี้

1. มีโอกาสที่จะเคยมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารมาก่อน

รถโรเวอร์สำรวจดาวอังคารอย่าง Curiosity ได้ค้นพบร่องรอยของธาตุโบรอนในก้อนหินบางก้อนในปล่องอุกกาบาต และการมีอยู่ของธาตุนี้บ่งชี้ได้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีน้ำอยู่บนพื้นผิวของดาวอังคาร และน้ำนั้นอาจเคยค้ำจุนสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนดาวสีแดงดวงนี้มาก่อน

2. เราอาจได้เห็นสิ่งมีชีวิตนอกโลกในชั่วชีวิตนี้

ในปี 2016 สตีเฟน ฮอว์กิง ได้จับมือกับมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย มีแผนส่งยานอวกาศขนาดจิ๋วที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงเลเซอร์ ไปยังระบบดาว อัลฟา เซนทอรี่ ที่อยู่ห่างไปแค่ 4.25 ปีแสง ซึ่งเชื่อดาวเคราะห์ที่ชื่อ Proxima B ในระบบดาวแห่งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ยานอวกาศจิ๋วลำนี้จะเดินทางไปด้วยความเร็ว 20% ของความเร็วแสง และต้องใช้เวลาราว 20 ปีกว่าจะเดินทางไปถึง และใช้เวลาส่งภาพถ่ายกลับมาอีก 4 ปี กว่าที่เราจะรู้คำตอบนี้

3. ดาวพฤหัสและดาวเนปจูน กำลังโจมตีโลกด้วยดาวหาง

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โดยสนามแรงโน้มถ่วงที่ทรงพลังของดาวพฤหัสได้ดึงดูดดาวเคราะห์น้อยและดาวหางเข้ามายังระบบสุริยะของเรา อย่างไรก็ตามจากการศึกษาล่าสุดพบว่า ไม่ใช่แค่ดาวพฤหัสเท่านั้น แต่ยังมีดาวเนปจูนที่ช่วยกันดึงดูดดาวเคราะห์และดาวหางให้เข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน และนั่นทำให้มีความเป็นไปได้ที่โลกอาเจอแจ็คพอตจากการเรียกแขกครั้งนี้

4. มีน้ำที่เป็นของเหลวอยู่บนดาวพลูโต

หลังจากที่ทางนาซ่าได้วิเคราะห์ข้อมูลของดาวพลูโตจากยาน New Horizons ก็พบว่ามีน้ำที่เป็นของเหลวอยู่ลึกลงไปไม่เกิน 100 กิโลเมตร ข้างใต้พื้นผิวของดาวที่เป็นน้ำแข็งหนา และระดับความเค็มของมหาสมุทรนี้น่าจะอยู่ราวๆ 30% เหมือนกับทะเลเดดซีบนโลกมนุษย์เรา

5. ครั้งหนึ่ง ดาวศุกร์เคยเป็นเขตอยู่อาศัยได้

ปัจจุบัน ดาวศุกร์คือดาวที่ร้อนที่สุดในระบบสุริยะ (ร้อนกว่าดาวพุธที่ใกล้กว่า) และชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ก็ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 97% มีฝนตกเป็นกรดที่จะระเหยก่อนที่จะตกลงมาถึงพื้นเนื่องจากอุณหภูมิที่่สูงถึง 500 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 4 พันล้านปี ดาวศุกร์อาจเคยมีปริมาณน้ำมหาศาลที่รวมกันเป็นมหาสมุทรขนาดใหญ่จนกระทั่งแห้งเหือดไปเมื่อประมาณ 2 พันล้านปีก่อน และมีความเป็นไปได้ที่ดาวศุกร์จะเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

6. วงแหวนและบริวารของดาวเสาร์ มีอายุน้อยกว่าไดโนเสาร์

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ดาวเสาร์มีดาวบริวารมากถึง 62 ดวง (เฉพาะที่ยืนยันได้) และมีวงแหวนหลายชั้นมากๆ วงแหวนของดาวเสาร์ประกอบขึ้นจากก้อนน้ำแข็งที่มีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรไปจนถึงหลายร้อยเมตร แต่ละก้อนโคจรรอบดาวเสาร์ไปตามเส้นทางของตนเอง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดระบุว่า วงแหวนของดาวเสาร์ไม่ได้ก่อตัวขึ้นมาพร้อมๆ กับตัวดาวเสาร์ (ประมาณ 4 พันล้านปีก่อน) จากแบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่า วงแหวนและดาวบริวารส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นมาไม่นานมาก ซึ่ง ณ ตอนนั้นเองบนโลกของเราก็มีไดโนเสาร์วิ่งกันเพ่นพ่านแล้ว

7. ระบบสุริยะของเราอาจมีดาวเคราะห์ดวงที่ 9

อย่างที่ทราบกันดีว่าในระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์หลักอยู่ทั้งหมด 8 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน และไม่นับพลูโตที่ถูกลดสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ แต่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เองได้แสดงให้เเห็นว่า ในระบบสุริยะของเราอาจมีดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ซึ่งห่างออกไปเป็น 20 เท่าของระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์กับเนปจูน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามวลของมันมากกว่าโลกถึง 10 เท่า และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 รองจากดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ซึ่งมันเองยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการจนกว่าจะได้รับการยืนยันที่แน่ชัด

8. มีดาวเคราะห์น้อยไม่น้อยกว่า 15,000 ดวง อยู่ใกล้โลก

จากโครงการสำรวจของนาซ่าที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2005 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่ๆ เฉลี่ยแล้ว 30 ดวงต่อสัปดาห์ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในปี 1998 ด้วยเทคโนโลยีในตอนนั้น การค้นพบดาวเคราะห์จำนวนเท่านี้ จำเป็นต้องใช้เวลาทั้งปีเลยทีเดียว

9. นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานที่ยืนยันการมีอยู่ของหลุมดำ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงครั้งแรก ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ยังเป็นการยืนยันการมีอยู่ของหลุมดำอีกด้วย นอกจากนั้น ถ้านักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาคลื่นความโน้มถ่วงที่เป็นผลมาจากการเกิดบิ๊กแบงจนเข้าใจได้ พวกเราอาจจะได้เข้าใจกลไกที่นำไปสู่จุดกำเนิดของจักรวาลได้อีกด้วย

10. ฝนประหลาดบนดาวดวงอื่น

ถ้าหากบนโลกมนุษย์มีปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างฝน หิมะ และลูกเห็บ ในดาวดวงอื่นๆ ก็มีปรากฏการณ์ “ฝน” ในรูปแบบต่างๆ ที่เราคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น ดาว COROT-7b ที่มีฝนตกเป็นหิน ดาว HD 189733b ที่มีฝนตกเป็นแก้ว ฝนกรดบนดาวศุกร์ หรือแม้แต่ฝนที่ตกเป็นเพชรบนดาวเนปจูน ยูเรนัส และดาวพฤหัส

11. โลกเรามีขนาดเล็กแค่ไหน

ถ้าเทียบกับดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จัก ดาว VY Canis Majoris จะมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ราวๆ 2,000 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่าโลกมนุษย์ราว 155,000 เท่า เรียกได้ว่าโลกเปรียบเสมือนจุดเล็กๆ บนดาวดวงนี้ก็ว่าได้

12. โลกเราจะดูเป็นอย่างไรเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน ?

ถ้าเราสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปเมื่อตอนกำเนิดโลกเมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน เราจะเห็นว่าโลก ณ ตอนนั้นไม่ได้เป็นสีน้ำเงินสวยสดใสเหมือนอย่างในปัจจุบัน แต่มันจะออกเป็นสีเหลืองแดง ผิวโลกยังเดือดพล่านไปด้วยหินหลอมเหลวร้อนระอุ จากการถูกชนด้วยวัตถุขนาดใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า ธีอา (Theia) ทำให้มวลของโลกราว 1 ใน 4 ได้แยกตัวออกไปกลายเป็นดวงจันทร์

และเมื่อกาลเวลาผ่านไป โลกของเรามีวิวัฒนาการที่เกิดจากความลงตัวหลายๆ อย่างสั่งสมมานานหลายพันล้านปี ก่อกำเกิดขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภท รวมถึงมนุษย์สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาที่สุดบนดาวดวงนี้ และนั่นจึงเป็นคำถามที่ค้างคาใจใครหลายๆ คนว่า ในจักรวาลแห่งนี้ ยังมีความลงตัวที่หล่อหลอมสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาแบบมนุษย์ อยู่บนดาวดวงอื่นอีกบ้างหรือเปล่า

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา