5 ตรรกะวิบัติที่พบบ่อยบนโลกโซเชียล และคุณอาจกำลังทำมันอยู่ตอนนี้

การโต้เถียงกันอย่างมีอารยะ ต้องเริ่มจากการที่ต่างคนต่างใช้ข้อมูลที่มีถกเถียงกันด้วยตรรกะเหตุผลอย่างถูกต้อง แต่บนโลกของโซเชียลมีเดีย อาจเป็นอะไรที่แตกต่างกันออกไป และมันเป็นสิ่งที่คุณต้องเจออยู่ในทุกโพสต์ที่เป็นประเด็นทางสังคม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Noelle Cress กราฟิกดีไซเนอร์สาวผู้เบื่อหน่ายกับการโต้เถียงของผู้คนบนโลกโซเชียลที่มักเต็มไปด้วยตรรกวิบัติ ได้โพสต์ลงบนอินสตาแกรมส่วนตัวว่า เธอเกลียดการพูดคุยทางโซเชียลมีเดียเพราะผู้คนมักโจมตีกันได้รวดเร็วและไม่ค่อยฟังคนอื่น เรามักอ่านข่าวแบบผ่าน ๆ เลือกเชื่อในสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว มากไปกว่านั้นคือเราลืมคิดวิเคราะห์และพิมพ์ด้วยอารมณ์อย่างไร้เหตุผล

ด้วยเหตุนี้ Noelle จึงรวบรวมตรรกะวิบัติ 5 ข้อที่พบบ่อยและควรหลีกเลี่ยง ซึ่งได้แก่

1. Ad Hominem Fallacy

โจมตีไปที่ตัวบุคคลที่โต้เถียงด้วยแทนที่จะพิจารณาไปที่ประเด็นที่กำลังโต้เถียงกัน

ตัวอย่างเช่น “คุณเป็นชาวนา คุณจะไปรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ได้ยังไง”

2. Straw Man Fallacy

โต้เถียงด้วยการนำความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้ามมาบิดเบือนหรือใส่ไข่ให้เป็นเวอร์ชั่นที่ผิดเพี้ยน (หุ่นฟาง) แล้วหักล้างสิ่งที่ตนเองบิดเบือนนั้น

ตัวอย่างเช่น “คนที่เห็นด้วยกับการชุมนุม Black Lives Matter ต้องเป็นพวกเกลียดคนผิวขาวแน่ ๆ”

3. Red Harring Fallacy

หันเหประเด็นที่กำลังถกเถียงกันด้วยการหยิบยกประเด็นอื่น (ที่เหมือนจะเกี่ยวข้องกัน) เข้ามาแทน

ตัวอย่างเช่น “พวกคุณจะมาประท้วงเอาโอทีเพิ่มได้ยังไง งานที่ทำมายังไม่เรียบร้อยเลย”

4. Anecdotal Evidence Fallacy

การใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาเป็นตัวตัดสินข้อถกเถียงทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น “ผมเห็นคนซื้อของออนไลน์กันเพียบ แสดงว่าเศรษฐกิจต้องดีแน่นอน”

5. False Dilemma Fallacy

เปลี่ยนประเด็นที่ซับซ้อนให้เหลือแค่ 2 ทางเลือก (จริง ๆ คุณอาจมีทางเลือกหลายทาง แต่ถูกบังคับให้เลือกแค่ 2 ทางที่สุดโต่งแบบ ขาว-ดำ)

ตัวอย่างเช่น “ถ้าไม่ให้ผมไปแว้น จะให้ผมไปเล่นมั่วสุมทำอย่างอื่นกันเหรอครับ”

แล้วสิ่งที่คุณต้องทำคืออะไร ?

นอกจากตรรกะวิบัติทั้ง 5 ข้อแล้ว Noelle ยังกล่าวอีกว่า การเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่แค่การคอยให้อีกฝ่ายพูดจบหรือพิมพ์เสร็จ แต่คุณต้องดูว่าเขาต้องการสื่อถึงอะไร และตอบโตไปยังประเด็นนั้นอย่างมีมารยาท การเคารพคู่สนทนาก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

 สำหรับตรรกะวิบัติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่ตัวเราที่ไม่รู้ตัวเราเอง ดังนั้นจงลองคิดวิเคราะห์การตอบโต้ข้อถกเถียงต่าง ๆ ที่คุณได้พิมพ์ไปบนโลกโซเชียลดูให้ดี ว่าเคยใช้ตรรกะวิบัติเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งมันอาจทำให้คุณเป็นคนมีเหตุมีผลมากขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

ที่มา : Instagram | NoelleCress.com | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ