ถึงแม้การเดินทางโดยเครื่องบินจะเป็นสิ่งที่ดูน่ากลัวสำหรับใครหลายๆ คนก็ตาม แต่จากสถิติแล้ว เครื่องบินถือเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพียง 1 ครั้งในทุกๆ 1.2 ล้านเที่ยวบิน อัตราการเสียชีวิตคือ 1 ต่อ 11 ล้านคน ปลอดภัยกว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ถึง 1 ต่อ 5,000 เท่า ซึ่งในการเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องบินทั้งหมด มีสถิติผู้รอดชีวิตมากถึง 95%
และวันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านมาชมความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับอันตรายบนเครื่องบินอีกหลายข้อ ที่รับรองว่าคุณอาจกำลังเชื่อสิ่งเหล่านี้อยู่ก็เป็นได้
1. ฟ้าผ่าเครื่องบินจะระเบิดหรือไม่ ?
เรื่องนี้อาจทำให้คุณประหลาดใจเมื่อรู้ว่า จริงๆ แล้วมีเหตุการณ์ฟ้าผ่าเครื่องบินบ่อยกว่าที่คุณจะจินตนาการเสียอีก จากสถิติระบุว่า เครื่องบินทุกลำอาจเคยโดนฟ้าผ่าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือในทุกๆ วันจะมีเครื่องบินที่ถูกฟ้าผ่าถึง 50 ลำทั่วโลก
ข้อมูลเหล่านี้อาจสร้างความหวาดกลัวให้กับเรา แต่ในความเป็นจริง ฟ้าผ่าไม่สามารถทำอันตรายต่อเครื่องบบินได้ และสร้างความเสียหายได้จนถึงขนาดเครื่องบินตก ถึงแม้ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ฟ้าผ่าจะเป็นปัญหากับเครื่องบินจริง แต่ในปัจจุบันเครื่องบินทุกลำมีการติดตั้งระบบป้องกับฟ้าผ่า หรือเสาล่อฟ้า Static Discharger ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าเช่นปีกและหัวเครื่อง ที่สามารถกระจายประจุไฟฟ้าให้แผ่ออกไปได้ทั่วผิวเครื่องบิน
2. ถ้าระบบการบินอัตโนมัติถูกแฮ็ค เครื่องจะถูกบังคับให้ตกได้ ?
คุณอาจเคยเห็นในภาพยนตร์บางเรื่องที่ระบบการบินอัตโนมัติ (Autopilot) ของเครื่องบินถูกแฮ็ค จนทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องได้อีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องบินมีการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้นในทุกๆ ระบบ ซึ่งตัวเครื่องบินทุกลำจะมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมระบบการบินอัตโนมัติแยกออกจากกันอย่างน้อย 2 เครื่อง ซึ่งแต่ละเครื่องก็สามารถควบคุมออกจากกันได้อย่างอิสระ และถึงแม้ระบบการบินอัตโนมัติจะไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด นักบินเองก็ยังมีความสามารถพอที่จะควบคุมเครื่องบินด้วยตัวเองอยู่ดี
3. เมื่อเกิดรูที่ด้านข้างของเครื่อง จะดูดคนออกไปข้างนอกได้ ?
ในภาพยนตร์บางเรื่อง เช่น Final Destination ภาคแรก คุณจะเห็นว่าเมื่อเกิดความเสียหายบนตัวเครื่องบินจนเกิดเป็นรู จะทำให้เกิดลมดูดมหาศาล ดูดทุกอย่างออกไปนอกเครื่อง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มันอาจไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่
มันเป็นเรื่องจริงที่ความดันอากาศภายในกับภายนอกเครื่องบินแตกต่างกัน แต่มันก็ไม่มากพอที่จะสามารถสร้างแรงดูดมหาศาลจนถึงขนาดทำให้ผู้โดยสารถูกดูดหายออกไปนอกเครื่องได้ทันที ความจริงที่จะเกิดขึ้นก็คือ กระแสลมในเครื่องจะปั่นป่วนพัดเอาสิ่งของที่้มีน้ำหนักเบาไปรอบๆ เครื่อง จากนั้นอากาศในห้องโดยสารก็จะหนาวเหน็บ หน้ากากออกซิเจนจะหล่นลงมา มันเกิดหายนะแน่ๆ แต่ไม่ใช่เหมือนกับในภาพยนตร์อย่างแน่นอน
4. เครื่องยนต์ไม่ทำงาน จะทำให้เครื่องตกได้ ?
เครื่องบินส่วนใหญ่ไม่เหมือนกับรถยนต์ เพราะเครื่องบินโดยสารที่เราใช้เดินทางกันอยู่ทุกวันนี้มีเครื่องยนต์อย่างน้อย 2 เครื่องหรือมากกว่านั้น อาจเกิดเหตุการณ์เครื่องยนต์เสียหายไป เครื่องยนต์ที่เหลือก็จะทำงานพาคุณไปถึงที่หมายได้ หรือแม้เหตุการณ์นี้จะเกิดกับเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์เดี่ยวที่ดับไป หรือจะดับหมดทุกเครื่อง เครื่องบินก็ยังมีสภาพเป็นเหมือนเครื่องร่อนที่บินต่อไปได้ ซึ่งนักบินเองก็สามารถเอาเครื่องลงได้ หากมีพื้นที่ราบเรียบ เช่น รันเวย์ให้ลงจอด
5. ตกหลุมอากาศ เป็นอันตรายอย่างมาก ?
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศ และก็อดเสียวไม่ได้ว่าเครื่องบินที่เรานั่งจะเป็นอะไรหรือเปล่า ก่อนอื่นเราควรเข้าใจว่า หลุมอากาศคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เนื่องจากบนชั้นบรรยากาศโลกไม่ได้ราบลื่นตลอดเวลา หลุมมอากาศเกิดจากปัจจัยต่างๆ มากมายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางลม ความเร็วลม หรือความหนาแน่นของอากาศ
และเนื่องจากนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทางผู้ผลิตเครื่องบินเองจึงต้องมีการทดสอบเครื่องบินใหม่ในกรณีที่เกิดสภาวะที่เลวร้ายที่สุด ปีกของเครื่องบินทุกลำจะต้องถูกทดสอบแรงต้านทานมากกว่าสิ่งที่เราต้องเจอถึง 150% รวมถึงการตกหลุมอากาศ ซึ่งนั่นก็มากพอที่จะทำให้เราอุ่นใจได้
6. ประตูเครื่องบินสามารถถูกเปิดในระหว่างบินได้ ?
จริง ถ้าคำถามนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว แต่สำหรับเครื่องบินสมัยใหม่ทุกลำมีการปรับแรงดันภายในเครื่อง ดังนั้นความกดอากาศในห้องโดยสารจะสูงกว่าบรรยากาศข้างนอกเฉลี่ย 5-6 เท่า ทำให้แรงกดอากาศที่ประตูเครื่องสูงถึง 500 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางฟุต ซึ่งถือเป็นแรงกดที่แน่นมาก
นอกจากนั้น การจะเปิดประตูจำเป็นต้องเลื่อนหรือหมุนประตูเข้ามาในห้องโดยสารก่อนที่จะผลักออกไปด้านนอกได้ อ้างอิงจากคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไม่มีผู้โดยสารคนไหนที่จะแข็งแรงพอจะเปิดประตูฉุกเฉินบนเครื่องบินได้ในขณะที่กำลังบินอยู่บนอากาศ
7. ไม่มีโอกาสรอดหากเครื่องบินตก ?
ถึงแม้การที่เครื่องบินตกจะสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงให้กับชีวิตเราได้ แต่จากที่กล่าวมาข้างต้น สถิติผู้รอดชีวิตจากเครื่องบินตกก็ถือเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ดี
ตัวอย่างเหตุการณ์รอดชีวิตเช่น สายการบิน อโลฮา แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 243 ที่บินระหว่างเมืองฮิโลไปยังฮอนโนลูลู ที่รัฐฮาวาย เมื่อปี 1988 เมื่อระบบปรับความดันในห้องนักบินและน้องโดยสารล้มเหลว จากรอยฉีกขาดบนเครื่อง ส่งผลให้หลังคาและผนังเครื่องบินบางส่วนในบริเวณที่นั่งชั้น First Class ฉีกขาดกระเด็นหายไป แต่นักบินก็สามารถนำเครื่องลงในสภาพเปิดประทุนได้ราวกับปาฏิหาริย์
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา