10 ดวงจันทร์ที่แปลกและมหัศจรรย์ที่สุด ในระบบสุริยะ

ในระบบสุริยะของเรามีดวงจันทร์มากกว่า 200 ดวง โคจรรอบดวงดาวต่างๆ อย่างเช่นดวงจันทร์ของโลกเราก็มี 1 ดวง ซึ่งมนุษย์ได้ขึ้นไปเหยียบเป็นที่เรียบร้อย และรู้แล้วว่าดวงจันทร์ของเรามีลักษณะเป็นอย่างไร วันนี้เพชรมายาจะขอพามาชมดวงจันทร์ที่ไม่ธรรมดาในระบบสุริยะจักรวาลของเรา ส่วนจะมีดวงจันทร์ของดาวดวงไหนบ้าง ลองไปชมกัน

1. เนรีด (Nereid) ดวงจันทร์ของดาวเนปจูน

moon-01

ดวงจันทร์เนรีด ถูกค้นพบในปี 1940 โดย เจราร์ด คูเปอร์ โดย เนรีด ถือเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของดาวเนปจูน และเป็นดวงจันทร์ที่มีวงโคจรที่แหกคอกที่สุดในระบบสุริยะ นั่นทำให้ระยะทางระหว่างเนรีดและเนปจูนค่อนข้างห่างกันมาก ระยะทางที่เนรีดโคจรมาใกล้เนปจูนที่สุดคือ 841,100 ไมล์ ส่วนห่างที่สุดคือ 5,980,200 ไมล์ ด้วยระยะห่างไกลขนาดนี้ ทำให้มันต้องใช้เวลานานถึง 360 วันของโลก กว่าจะโคจรครบ 1 รอบดาวเนปจูน (ดวงจันทร์ของโลกใช้เวลาโคจรรอบโลก 27.3 วัน)

2. ไมมัส (Mimas) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์

moon-02

ไมมัส เป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กที่ถูกค้นพบในปี 1789 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 246 ไมล์เท่านั้น สิ่งที่ทำให้ไมมัสเป็นดวงจันทร์ที่น่าสนใจเพราะ บนพื้นผิวของมันมีหลุมอุกกาบาตที่มีความกว้าง 88 ไมล์ และลึก 6 ไมล์ ถึงแม้นี่จะไม่ใช่หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุด แต่มันกินพื้นที่ไปมากถึง 1 ใน 3 จนทำให้มันมีลักษณะเหมือนกับ ดาวมรณะ (Death Star) จากเรื่อง Star Wars

3. ไอแอพิตัส (Iapetus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์

moon-03

ไอแอพิตัส ถูกค้นพบในปี 1671 โดย จิโอวานนี แคสซินี โดยเป็นดวงจันทร์ที่หันหน้าด้านเดียวเข้าหาดาวเสาร์ และสิ่งที่ทำให้มันแปลกก็คือ มันมีสีและสะท้อนแสงได้ ครึ่งหนึ่งของไอแอพิตัส เป็นสีดำมืดสนิทเหมือนถ่าน ส่วนอีกครึ่งเป็นสีขาวที่สว่างสดใส และคุณจะมองเห็นไอแอพิตัสได้ จากการที่มันโคจรมาทางฝั่งตะวันตกของดาวเสาร์

4. แด็กทิล (Dactly) ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์น้อยไอดา (Ida)

converted PNM file

แด็กทิล ถูกค้นพบในปี 1995 โดยยานอวกาศกาลิเลโอ แด็กทิล เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1 ไมล์ และเป็นดวงจันทร์ดวงแรกที่ถูกค้นพบว่าโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่แน่ใจว่า ดวงจันทร์ดวงจิ๋วนี้เป็นชิ้นส่วนที่แตกหักออกมาจากดาวเคราะห์น้อยหรือเปล่า ซึ่งหลังจากการค้นพบครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบดวงจันทร์อีกมากที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อย

5. ยูโรปา (Europa) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัส

moon-05

ยูโรปา ถูกค้นพบโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ เมื่อเดือนมกราคมปี 1610 โดยมันมีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย และพื้นผิวของมันมีความโดดเด่นเพราะมีเส้นทึบที่ดูราวกับถูกขูดขีดไปมา สาเหตุของรอยดังกล่าวยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ชัดเจนได้ นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า ภายใต้พื้นผิวน้ำแข็งหนาๆ อาจมีมหาสมุทรในรูปแบบน้ำของเหลวอยู่ และด้วยความร้อนจากแรงดึงดูดของดาวพฤหัส อาจส่งผลให้มีสิ่งมีชีวิตอยู่ในนั้นก็เป็นได้

6. เอนเซลาดัส (Enceladus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์

moon-06

เอนเซลาดัส ถูกค้นพบในปี 1789 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล โดยเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของดาวเสาร์ แต่สิ่งที่แปลกคือ มันเป็นดวงจันทร์ที่สว่างที่สุดในระบสุริยะ เพราะพื้นผิวของมันสะท้อนแสงอาทิตย์เกือบ 100% นั่นส่งผลทำให้อุณหภูมิบนเอนเซลาดัสหนาวมาก โดยติดลบถึง 200 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณขั้วโลกใต้จะมีรอยแตกทึบที่ถูกเรียกว่า “ลายเสือ” ซึ่งเป็นภูเขาไฟน้ำแข็งที่พ่นอนุภาคน้ำแข็งขนาดเล็กขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งอนุภาคบางส่วนจะตกกลับลงมาเป็นหิมะ และบางส่วนจะกระจายสู่อวกาศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนดาวเสาร์

7. ไอโอ (Io) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัส

moon-07

ไอโอ ถูกค้นพบพร้อมๆ กับยูโรปา โดยกาลิเลโอ และนี่คือสถานที่ๆ มีภูเขาไฟเยอะที่สุดในระบสุริยะจักรวาล แต่ละพื้นที่จะเต็มไปด้วยภูเขาไฟที่ยังมีพลังงานมากถึง 200-300 แห่ง ที่แข่งกันปะทุขึ้นไปสูงถึง 50-300 กิโลเมตร แน่นอนว่าบรรยากาศของดวงจันทร์แห่งนี้จะเต็มไปด้วยไอกรดกำมะถัน ส่วนสาเหตุที่ดวงจันทร์แห่งนี้มีพลังงานเต็มเปี่ยมเพราะได้รับอิทธิพลความร้อนจากดาวพฤหัสในขณะที่โคจรเข้าใกล้นั่นเอง

8. ไททัน (Titan) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์

moon-08

ไททัน ถูกค้นพบในปี 1655 โดย คริสเตียน ฮายเจนส์ ถือเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ บรรยากาศของไททันปกคลุมด้วยก๊าซไนโตรเจน มีเทน และอีเทน ที่หนามากจนยากที่จะศึกษาถึงพื้นผิวของมัน แต่ถึงอย่างนั้น มันเป็นสถานที่แห่งเดียว (นอกจากโลก) ในระบบสุริยะของเราที่มีของเหลวอยู่บนพื้นผิว ถึงแม้ว่าของเหลวนั้นจะเป็นมีเทนก็ตาม

9. ไทรทัน (Tritan) ดวงจันทร์ของดาวเนปจูน

moon-09

ไทรทัน ถูกค้นพบในเดือนตุลาคม 1846 โดย วิลเลียม แลซเซล แค่เพียง 17 วัน หลังจากดาวเนปจูนถูกค้นพบ มันคือดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน และยังเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะ ที่โคจรในทิศทางตรงกันข้ามกับดาวที่มันโคจรรอบ นอกจากนั้น มันยังเป็นดาวที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในระบบสุริยะของเรา เมื่อยานโวยาเจอร์ 2 บินไปถึงในปี 1989 ก็พบว่า ไทรทันมีอุณหภูมต่ำขนาด -235 องศาเซลเซียส

10. แกนีมีด (Ganymede) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัส

moon-10

แกนีมีด ถูกค้นพบพร้อมๆ กับยูโรบาและไอโอ โดยกาลิเลโอ โดย แกนีมีด เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล มันมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ และมีขนาดถึง 3 ใน 4 ของดาวอังคาร จริงๆ แล้วมันควรถูกพิจารณาเป็นดาวเคราะห์ ถ้าไม่เป็นเพราะมันโคจรรอบดาวพฤหัส แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มันเป็นดวงจันทร์เพียงดวงเดียวในระบบสุริยะที่ผลิตสนามแม่เหล็กเป็นของตัวเองได้ และในปี 1996 กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล ได้พบร่องรอยของออกซิเจนบางๆ บนชั้นบรรยากาศรอบแกนีมีด แต่นั่นก็น้อยเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : listverse | เรียบเรียงโดย เพชรมายา