ในอดีต การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เหล่านักสูบคิดจะสูบที่ไหนก็ได้ ย้อนกลับไปประมาณ 20-30 กว่าปีที่แล้ว ใครเกิดทันยุคนั้นคงเคยเห็นภาพของคนที่เดินสูบบุหรี่กันอย่างเปิดเผย ไม่เกรงใจคนรอบข้าง สูบกันทุกที่ทุกเวลา ในห้องทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล ห้าง สูบในโรงหนังก็ยังทำได้ หรือแม้แต่บนรถเมล์ บนรถไฟ ไปจนกระทั่งบนเครื่องบินก็สูบกันเป็นเรื่องปกติ เรียกได้ว่าสูบกันอย่างเสรีมากในยุคสมัยนั้น บางครั้งเมื่อมีคนยื่นบุหรี่ให้ คนที่ไม่สูบต้องปฏิเสธด้วยความเกรงอกเกรงใจ เป็นเสียงส่วนน้อยที่ดูแปลกแยกมากในยุคนั้น
ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คนรอบข้างถูกทำลายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว และเยาวชนเองก็เห็นคนสูบบุหรี่อย่างเปิดเผยจนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้มีจำนวนของผู้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นมาก
แต่ปัจจุบันภาพการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ป้ายสัญลักษณ์อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ แต่รู้มั้ยว่ากว่าจะมาเป็นป้าย “ขอบคุณที่ไม่สูบบุหรี่” ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง? ลองมาย้อนความเป็นมาของป้ายนี้ไปพร้อมกัน
“พ.ศ. 2529”
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2529 ถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เพราะได้มีการเริ่มก่อตั้ง “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ขึ้นเป็นครั้งแรก
“พ.ศ. 2531”
มีมติ ครม. เห็นด้วยกับมาตราการควบคุมการสูบบุหรี่ และมีการห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ในที่ประชุม , สถานที่ราชการ และตามที่สาธารณะทั่วประเทศ แล้วยังมีการกำหนดให้วันสำคัญอย่าง 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกอีกด้วย
“พ.ศ. 2534”
ในปีนี้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่ทำงาน เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง
“พ.ศ. 2539”
เมื่อการรณรงค์ถูกขยายเป็นวงกว้างออกไป ทำให้เกิดมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อทำให้จัดสรรการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
“พ.ศ. 2544”
เกิดโครงการสำนักงานปลอดบุหรี่ ถือเป็นโครงการที่ช่วยให้พนักงานเลิกบุหรี่ได้ด้วย
“พ.ศ. 2545”
ก่อตั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เกิดขึ้นภายหลังการก่อตั้ง ก็เดินหน้าผลักดันโครงการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยมี นพ.สุภกร บัวสาย และ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เป็นผู้นำโครงการ
“พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2550”
เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการรณรงค์ให้หลายพื้นที่กลายเป็นเขตปลอดบุหรี่เลยก็ว่าได้ ทั้งประกาศให้ล็อบบี้โรงแรม โบกี้รถไฟ สปา ฯลฯ มีการใช้ป้ายและสติกเกอร์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น
หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นป้าย หรือ สติกเกอร์ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หลากหลายรูปแบบเช่น “งดสูบบุหรี่” “เขตปลอดบุหรี่” , “ห้ามสูบบุหรี่” จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่คุ้นหน้าคุ้นตา และได้ถูกพัฒนาต่อเปลี่ยนจากการห้ามเป็นการขอบคุณ ด้วยป้าย “ขอบคุณที่ไม่สูบบุหรี่” ในทุกวันนี้ เพียงแค่เห็นป้ายเหล่านี้เราก็จะมีจิตสำนึกรู้ได้ว่า ตรงนี้ไม่ใช่สถานที่สูบบุหรี่นั่นเอง
และป้ายนี้ถูกใช้เป็นสื่อหลักร่วมกับการทำงานสร้างความร่วมมือ ความเข้าใจ และเคลื่อนมาตรการเชิงนโยบาย เช่น โครงการขับเคลื่อนจังหวัดปลอดบุหรี่, การกำหนดพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่เพื่อลดควันบุหรี่มือสองในสถานที่ต่างๆ โดยสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายอย่างร้านอาหารหรือในโรงงาน สร้างความเข้าใจเรื่องพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ตามกฎหมายเเละเปิดโอกาสให้คนไม่สูบบุหรี่กล้าเดินไปบอกคนสูบได้ เพื่อสร้างให้เกิดค่านิยมใหม่ ร่วมกับการมีข้อบังคับอื่นๆ เช่น ห้ามโฆษณาแฝงบุหรี่ในสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และห้ามโฆษณา ณ จุดขาย พิมพ์ภาพคำเตือนบนหน้าซองบุหรี่ หรือการห้ามแบ่งขาย รวมทั้งการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้เลิกบุหรี่ผ่านทาง QuitLine 1600 และเครือข่ายวิชาชีพ ทำให้อัตราของผู้สูบบุหรี่ในไทยลดลงเหลือเพียง 19.9% ในปี 2558
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้กับ “บุหรี่” ในประเทศ กินเวลายาวนานกว่า 30 ปีได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายช่วยผลักดันเพื่อนำไปสู่ “สังคมไร้ควัน” เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี คนสูบบุหรี่ในที่สาธารณะลดลงและกลายเป็นสิ่งไม่คุ้นชิน มีจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างสมบูรณ์ ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ขอบคุณโครงการ “เขตปลอดบุหรี่” ที่เข้ามาช่วยจำกัดพื้นที่ของคนสูบบุหรี่ ที่ทำให้สังคมมีระเรียบ มองเห็นความสำคัญของคนรอบข้าง สร้างจิตสำนึกที่ดี จนบ้านเมืองกลับมาน่าอยู่อีกครั้ง
หากไม่มีหน่วยงานใดใส่ใจเรื่องนี้ ขณะที่คุณกำลังนั่งอ่านบทความนี้อยู่
“อาจจะมีคนสูบบุหรี่ข้างๆ คุณอยู่ตอนนี้ก็ได้”