เคยสงสัยหรือไม่ว่า การที่คนมีสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว และอื่น ๆ มุมมองจากสายตาของพวกเขาจะเป็นอย่างไร แต่ถึงให้บอกเป็นคำพูด คนที่มีสายตาปกติคงไม่เข้าใจและไม่เห็นภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ ทางเพจ หมอเวร ได้นำภาพมาเปรียบเทียบให้เห็นว่าผู้มีสายตาปกติ กับผู้ที่มีสายตาไม่ปกติจากอาการต่างๆ นั้นแตกต่างกันอย่างไร และสิ่งที่ทำให้ชาวเน็ตอยากเรียนรู้ไปกับเรื่องของสายตานั่นก็คือพยาบาลสาวสวย ที่เป็นนางแบบให้แต่ละภาพ
1. สายตาสั้น
จะมีการมองเห็นที่แตกต่างกัน ถ้าสั้นมากภาพอาจจะเบลอทั้งหน้าจอเลย แต่ถ้าสั้นไม่เยอะมาก ก็จะเห็นประมาณในรูปนี้แหละ เวลามองใกล้ ๆ จะชัด แต่มองไกล ๆ จะเบลอ
2. สายตายาว
อันนี้ก็ตรงข้ามกับสายตาสั้นนี่แหละ มองภาพระยะใกล้ ๆ ไม่ชัด แต่มองไกลกลับชัดเจนดี
3. ตาเหล่หรือตาเข
คนคนที่มีอาการตาเหล่หรือตาเข ถ้าช่วงตายังปรับตัวไม่ได้จะมองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือเบลอ ๆ แต่พอนานไปสมองจะปรับตัว ค่อย ๆ ตัดการรับสัญญาณของตาที่ผิดปกติออก ทำให้ตาข้างที่เบี้ยวมองไม่เห็น และใช้การมองหลัก ๆ จากตาอีกข้างที่ปกติแทน ทำให้การมองเห็นจึงชัดเจนมากขึ้น (แต่อาจกะระยะได้ไม่ค่อยดีนัก)
คนตาเหล่หรือตาเขบางประเภท อาจมีการผิดปกติแค่การมองเห็นทางลักษณะภายนอกเท่านั้น แต่การมองเห็นของคนไข้อาจจะชัดเจนตามปกติได้ด้วย
4. สายตาเอียง
คนที่สายตาเอียงนี่บางรายใกล้ก็ไม่ชัด ไกลก็ไม่ชัด ทำให้ภาพที่มองเห็นอาจเบลอทั้งหมดแบบในรูปนี้ หรือบางรายอาจเห็นภาพซ้อนกันเล็ก ๆ เหมือนกรณีผู้ป่วยตาเขก็ได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการสายตา อาจมีสายตาสั้นหรือสายตายาวแฝงร่วมด้วย ทำให้การมองเห็นยิ่งแย่ลงไปอีกนั่นเอง
5. ต้อหิน
คนที่เป็นต้อหินมักมีปัจจัยเสี่ยงจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นต้อหินมาก่อน รวมถึงอาจเกิดจากมีความดันลูกในตาสูง เป็นต้น การมองเห็นของคนเป็นต้อกรณีทิ้งไว้นาน มักจะมองเห็นชัดแต่บริเวณกึ่งกลางของภาพนั่นเอง
6. ต้อกระจก
การมองเห็นของคนเป็นต้อกระจก มักจะเห็นเป็นภาพขุ่นมัว บางรายอาจมีอาการตาแพ้แสงจ้าควบคู่กันด้วย เห็นได้ชัดจากเวลาขับรถกลางคืน ตาของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะสู้แสงไฟรถที่สวนมาไม่ได้เลยนั่นเอง
7. เบาหวานขึ้นตา
หลายคนคงได้ยินกันบ่อย ๆ กับคำว่า “เบาหวานขึ้นตา” นั่นแหละคือการของคนเป็นโรคนี้เลย เบื้องต้นผู้ป่วยอาจจะเริ่มมีอาการตามัวลง บางรายหากมีการปริแตกของเส้นเลือดในตา ก็ทำให้มีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา จนทำให้เห็นเป็นจุดดำลอยฟุ้งกระจายในดวงตาได้
วิธีสังเกตง่าย ๆ ของคนเป็นโรคนี้คือ เวลามองท้องฟ้าจะเห็นเส้นตัวหนอนดำ ๆ นี้วิ่งอยู่ทั่วหน้าจอภาพเลย และตัวหนอนนี้จะคอยวิ่งตามการกรอกตาอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ใช่ว่าจะต้องเป็นเบาหวานกันทุกคน บางคนใช้สายตามาก ๆ จากการอ่านหนังสือ หรือการมองจอนาน ๆ ก็อาจจะมีเส้นตัวหนอนวิ่งขึ้นมาได้บ้าง อันนั้นอาจเป็นแค่อาการวุ้นลูกตามีปัญหาเฉย ๆ ก็ได้
8. ตาบอดสี (จากภาพคือแบบ Monochromacy)
อาการตาบอดสีจริง ๆ แล้วมีหลายประเภท (แต่อันนี้แค่ยกตัวอย่างมาให้ดู เป็นหนึ่งในอาการผู้ป่วยตาบอดสีชนิดรุนแรงนะ) ปกติแล้วเราจะจำแนกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน
1) แบบ Anomalous Trichromacy
ประเภทนี้จะมีการรับรู้สีที่ผิดเพี้ยนไป กรณีนี้จะแยกย่อยเป็นอีก 3 แบบคือ
A. มองเห็นสีเขียวไม่ชัด อาการคือแยกแยะสีแดง สีเขียว สีน้ำตาล สีส้ม และสีเหลืองไม่ออก
B.มองเห็นสีเขียวกับแดงเป็นสีเดียวกัน รวมถึงมองเห็นสีน้ำเงินและม่วงเป็นสีเดียวกันด้วย
C.มองเห็นสีเหล่านี้เป็นสีเดียวกัน สีน้ำเงิน-เหลือง, ม่วง-แดง, เขียว-น้ำเงิน และผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมองเห็นโลกทั่วไปเป็นสีแดง ชมพู ดำ ขาว เทา เขียวขุ่นด้วย
2) แบบ Dichromacy
ประเภทนี้จะมีการรับรู้สีแบบสีใดสีหนึ่งหายไปเลย แบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน
A. มองเห็นสีแดง = สีดำ
มองเห็นสีเขียวเข้ม / ส้มเข้ม / แดงเข้ม = สีน้ำตาลเข้ม
มองเห็นสีแดง / ม่วง / ชมพูเข้ม = สีน้ำเงิน
มองเห็นสีส้ม = สีเขียว
B. มองเห็นสีชมพู / เทา = สีเขียวอมฟ้า
มองเห็นสีส้มเข้ม / แดงเข้ม = สีน้ำตาลเข้ม
มองเห็นสีแสง / ชมพูเข้ม / ม่วง = สีน้ำเงิน
มองเห็นสีส้ม = สีเขียว
3) แบบ Monochromacy
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ตาไม่สามารถเห็นสีใด ๆ ได้เลย นอกจากสีขาว – เทา – ดำ ถือเป็นกลุ่มที่ภาวะตาบอดสีรุนแรงที่สุด
อันนี้แถม ความรักบังตา
อาการของผู้ป่วยคือ เวลาไม่อยากเห็นสิ่งใด เขาก็จะมองข้ามสิ่งนั้นไปอัตโนมัติ ซึ่งอันนี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่สายตา แต่เป็นที่นิสัยส่วนตัว
หากใครที่ชื่นชอบความรู้ทางการแพทย์ที่มีการนำเสนอแบบเข้าใจง่าย และได้สาระ สามารถไปติดตามกันต่อได้นะครับที่เพจ หมอเวร
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ