คุณสามารถกลั้นหายใจได้นานแค่ไหน แน่นอนว่าการขาดออกซิเจนเป็นเวลานานอาจส่งผลไปยังสมองจนเกิดความเสียหาย เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่บนโลกที่ต้องใช้การหายใจเข้าไปจริง ๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ แต่สำหรับพืชที่เป็นอะไรที่ต่างออกไป เพราะพวกมันพึ่งพาพลังของแสงหรือที่เราเรียกว่า “การสังเคราะห์แสง” เพื่อผลิตออกซิเจน
แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสัตว์สามารถสังเคราะห์แสงได้
จากการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ใน iScience เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นักวิจัยพบว่ามีความเป็นไปได้ที่สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พืชจะได้รับออกซิเจนโดยไม่จำเป็นต้องหายใจเข้าไป มันคือการนำโลกของพืชและสัตว์มารวมกัน โดยใช้การทำงานของสมองแบบปกติ และมีพลังในการเก็บกักออกซิเจนผ่านการสังเคราะห์แสง
จากผลการทดลองกับ “ลูกอ๊อด” ของกบแคระแอฟริกัน (African Clawed Frog) นักวิทยาศาสตร์ได้ฉีดสาหร่ายสีเขียวหรือไซยาโนแบคทีเรียเข้าไปในหัวใจ เพื่อคาดหวังว่าสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรียจะสามารถสร้างออกซิเจนจากคาร์บอนไดออกไซด์ได้เมื่อสัมผัสกับแสง
นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทดลองนี้และค้นหาว่าจริง ๆ แล้ว มันเป็นไปได้หรือไม่ที่สิ่งมีชีวิตจะได้รับออกซิเจนได้เพียงแค่ใช้การสัมผัสกับแสงเท่านั้น และสิ่งที่พวกเขาพบก็คือความเข้มข้นของออกซิเจนเพิ่มขึ้นตามโพรงของร่างกายของลูกอ๊อดที่นำมาทดลองเมื่อสัมผัสกับแสง
การทดสอบเริ่มต้นจากการที่นักวิจัยกำจัดออกซิเจนทั้งหมดภายในน้ำที่ลูกอ๊อดว่ายไปมา ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมของเซลล์ประสาททั้งหมดของพวกมันหยุดลงอย่างสมบูรณ์
แต่เมื่อทำการฉายแสงลงไปที่ลูกอ๊อดทดลอง สมองและร่างกายของพวกมันก็กลับมาทำงานอย่างครั้ง แต่เมื่อพวกเขาปิดไฟ ทุกอย่างก็กลับไปหยุดนิ่งเหมือนเดิม
นี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น
แม้ว่าผลการทดลองกับลูกอ๊อดจะเป็นไปได้สวย แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำผลการทดลองนี้มาปรับใช้กับมนุษย์ เนื่องจากความซับซ้อนทางชีวภาพและระบบประสาทนั้นต่างกัน
ประเด็นแรกคือ ผิวหนังของลูกอ๊อดกบแคระแอฟริกันนั้นโปร่งแสง ซึ่งแสงสามารถส่องผ่านผิวหนังเข้าไปเพื่อกระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตออกซิเจนได้ หากมีการทดลองในสัตว์ที่มีร่างกายซับซ้อนมากขึ้น ก็จะกลายเป็นเรื่องยากขึ้น เนื่องจากแสงไม่สามารถส่องทะลุผิวหนังไปจนถึงหลอดเลือดเพื่อกระตุ้นการสังเคราะห์แสงได้
แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตเรามีความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และได้เห็นการใช้วิธีสังเคราะห์แสงในสัตว์อื่น ๆ รวมถึงมนุษย์ก็เป็นได้
ที่มา : mashable | เรียบเรียงโดย เพชรมายา