5 การค้นพบโดยบังเอิญ ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ

ใครที่เรียนวิทยาศาสตร์อาจเคยได้ยินเรื่องราวของ ดิมิทรี เมนเดเลเยฟ นักเคมีชาวรัสเซียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งตารางธาตุ แต่เมนเดเลเยฟนั้นมีความคิดแตกต่างจากผู้เขียนตารางธาตุคนอื่นๆ นั่นคือ เขาได้ทำนายคุณสมบัติของธาตุต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ค้นพบด้วย ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าตารางธาตุที่เขาคิดค้นขึ้นมาจากความฝันของเขานั่นเอง จริงๆ ก็ไม่แปลกเพราะเขาเองได้ทุ่มเทให้กับงานวิจัยของเขาเป็นเวลาหลายปี จนอาจมีส่วนที่เก็บไปฝันได้ และแน่นอนว่าการค้นพบของเมนเดเลเยฟ ก็ถือเป็นเรื่องบังเอิญเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้เช่นกัน

และวันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านมาชมเรื่องราวการค้นพบโดยบังเอิญ ที่ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งคุณเองอาจไม่เคยรู้มาก่อน

1. คอนกรีตเสริมเหล็ก

ในระหว่างงานนิทรรศการปารีสในปี ค.ศ. 1867 โจเซฟ โมเนียร์ นักทำสวนชาวฝรั่งเศสได้นำเสนอสิ่งประดิษฐ์ของเขา นั่นคือกระถางต้นไม้คอนกรีตที่ฝังตาข่ายเหล็กเอาไว้ข้างใน โมเนียร์เคยทำงานสวนสาธารณะตุยเลอรี สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงปารีส ซึ่งเป็นที่ๆ เขามีหน้าที่ดูแลต้นส้ม

ในระหว่างช่วงฤดูร้อน ต้นส้มเหล่านี้จะถูกปลูกในกระถางซีเมนต์โดยถูกนำไปไว้ข้างนอก ในขณะที่ฤดูหนาว ต้นส้มจะถูกย้ายเข้ามาในบ้านเรือนกระจก ซึ่งในระหว่างนั้น กระถางมักจะแตกร้าวอยู่เสมอเนื่องจากความผันผวนของอุณหภูมิ

และเพื่อทำให้กระถางเหล่านี้แข็งแรงขึ้น โมเนียร์จึงตัดสินใจที่จะทดลองใส่ตาข่ายเหล็กเอาไว้ข้างในระหว่างขั้นตอนการหล่อคอนกรีต โดยในระหว่างการทดลองนั้นเอง โมเนียร์สังเกตว่า บริเวณที่ทนทานที่สุดก็คือจุดที่เหล็กตัดกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน บางทีเขาอาจเคยได้ยินเรื่องการทดลองใส่เหล็กไว้ในคอนกรีตมาก่อน แต่มูเนียร์คือคนแรกที่ไม่ได้ใช้แค่เหล็กเส้น แต่เขาใช้ตาข่ายที่ทำจากเหล็กนั่นเอง นอกจากนั้นสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับการก่อสร้างคานที่ทำจากการใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก ก็ยังเป็นฝีมือของเขาอีกด้วย

2. รางวัลโนเบล

ในปี ค.ศ. 1888 อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดนรู้สึกประหลาดใจอย่างมากที่พบข่าวการจากไปของตัวเองบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของฝรั่งเศสในพาดหัวที่ว่า “การจากไปของพ่อค้ามรณะ” เพราะจริงๆ แล้วคนที่ปรากฏในข่าวก็คือ ลุดวิก โนเบล พี่ชายของเขาที่เป็นวิศวกร (ซึ่งหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเข้าใจผิดคิดว่าเป็น อัลเฟรด โนเบล)

เมื่อได้อ่านพาดหัวข่าว อัลเฟรด โนเบล ผู้ผลิตอาวุธและผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมท์เริ่มรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำลงไป เขาไม่อยากถูกเรียกว่า “พ่อค้ามรณะ” อีกต่อไป ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาเสียใหม่ โดยการสร้าง “รางวัลโนเบล” ขึ้นมาเพื่อมอบให้กับบุคคลที่ทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้กับมวลมนุษยชาติ จนสุดท้าย เขาได้เขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลที่ได้จากการผลิตอาวุธให้กับสถาบันรางวัลโนเบลอีกด้วย

3. กระจกนิรภัย

ในปี ค.ศ. 1903 เอ็ดเวิร์ด เบเนดิกตัส นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสกำลังทำงานอยู่ในแล็บปฏิบัติการของเขา และเมื่อเอ็ดเวิร์ดเอื้อมมือไปหยิบขวดสารเคมีบางตัวจากชั้นวางสูง เขาเผลอทำขวดแก้วกระทบกันจนหล่นลงมาแตก ในตอนนั้นเอง เอ็ดเวิร์ดสังเกตเห็นบางสิ่งที่น่าสนใจก็คือ แก้วไม่ได้แตกเป็นเสี่ยงๆ อย่างที่คิด แต่มันร้าวและแตกออกโดยยังคงสภาพรูปร่างเดิมอยู่ ผลปรากฏว่าขวดแก้วดังกล่าวเคยบรรจุสารเคมี เซลลูโลส ไนเตรด ที่เวลาแห้งแล้วมันจะช่วยปกป้องขวดแก้วจากภายใน

ณ เวลานั้นเอง รถยนต์ยังคงใช้กระจกธรรมดาและมักจะเป็นอันตรายอย่างมากเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ เมื่อเอ็ดเวิร์ดได้อ่านข่าวอุบัติเหตุบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เขาก็เริ่มทดลองกับสิ่งที่เขาพบโดยบังเอิญ จนกระทั่งสามารถผลิตกระจกนิรภัยที่ประกอบไปด้วยแผ่นกระจก 2 แผ่นที่มีชั้นของ เซลลูโลส ไนเตรด อยู่ระหว่างกลาง และเมื่อผ่านกระบวนการความร้อน เซลลูโลส ไนเตรดก็จะละลายและยึดติดแผ่นกระจกให้แน่นขึ้น

ต่อมา เอ็ดเวิร์ด เบเนดิกตัส ได้จดสิทธิบัตรกระจกนิรภัยนี้ โดยเขาเรียกมันว่า “ทริปเพล็กซ์ กราส” และคนที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับรถยนต์เป็นคนแรกก็คือ เฮนรี ฟอร์ด ที่นำไปติดรถยนต์ของเขาในปี ค.ศ. 1919 นั่นเอง

4. กัมมันตรังสี

ในปี ค.ศ. 1896 อ็องตวน อ็องรี แบ็กแรล นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้ทำการศึกษาการเรืองแสงอย่างช้า (Phosphorescence) ในเกลือยูเรเนียม และค้นพบกัมตรังสีโดยบังเอิญ โดยเขาได้วางโพแทสเซียมยูเรนิลซัลเฟต ซึ่งตกทอดมาจากพ่อของเขา ไว้บนฟิล์มถ่ายรูปและวัสดุดำ จากนั้นนำไปตั้งไว้กลางแดด โดยเขาได้อธิบาย ณ ที่ประชุมวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส มีใจความดังนี้

เมื่อหุ้มฟิล์มถ่ายรูปลูมีแยร์ด้วยกระดาษดำหนา ๆ ซึ่งมีสารพวกโบรไมด์คั่นอยู่ ฟิล์มนั้นจะไม่มีลายหมอก แม้ตั้งไว้กลางแดดจ้า เมื่อวางสารนั้น (โพแทสเซียมยูเรนิลซัลเฟต) บนกระดาษซึ่งทับห่อนั้น จากนั้นนำไปวางไว้กลางแดด แล้วเอาฟิล์มนั้นมาล้าง จะพบว่ามีลายหมอกเป็นสีดำบนภาพเนกะทีฟ (ภาพที่ยังไม่ได้อัด) เมื่อใดที่เอาวัตถุอื่นใดปกปิดสารนั้น แล้วทดลอง ก็ปรากฏรูปวัตถุนั้น ๆ บนฟิล์ม ดังนั้นจึงสรุปว่า สารนั้นมีกัมมันตรังสีจริง รังสีนั้นผ่านทะลุกระดาษหนาๆ ได้ และรีดิวซ์เงินได้

จากการค้นพบนี้เอง ทำให้แบ็กแรลได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับสองสามีภรรยาตระกูลกูรี ในปี ค.ศ. 1903 และนามสกุลของเขาได้กลายมาเป็นชื่อหน่วยวัดกัมมันตภาพรังสี คือ แบ็กแรล ซึ่งเขียนด้วยสัญลักษณ์ Bq นั่นเอง

5. ยาชา

ในปี ค.ศ. 1844 โฮเรซ เวลส์ ทันตแพทย์ชาวอเมริกันได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงของ การ์ดเนอร์ ควินซี โคลตัน นักแสดงโชว์และนักเคมีผู้โด่งดัง โดยในระหว่างโชว์นั้นเอง โฮเรซถูกให้สูดดมก๊าซ “ไนตรัส ออกไซด์” และผลลัพธ์ทำให้เขาไร้ความรู้สึกใดๆ ตอนที่เขากระโดดไปรอบๆ แล้วกระแทกเข้ากับม้านั่งไม้

ไม่กี่วันต่อมา โฮเรซ ได้ทำการทดลองกับตัวเขาเอง ด้วยการสูดดมก๊าซไนตรัส ออกไซด์ และให้เพื่อนร่วมงานของเขาถอนฟันของเขาออกมาซี่หนึ่ง และไม่น่าเชื่อว่าผลลัพธ์ของการถอนฟันครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดใดๆ คุณหมอจึงตัดสินใจที่จะใช้ก๊าซนี้กับคนไข้ของเขาบ้าง

เมื่อโฮเรซตัดสินใจใช้ก๊าซนี้กับคนไข้ต่อหน้าเพื่อนร่วมงานของเขา ผลลัพธ์กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า อาจเป็นเพราะปริมาณของก๊าซที่ใช้น้อยเกินไป คนไข้ปล่อยโฮออกมาเสียงดัง และเพื่อร่วมงานของเขาก็นำเรื่องนี้มาล้อเขาราวกับเป็นเรื่องตลก ถึงแม้เขาจะพยายามผลักดันวิธีการทำยาชาของเขา แต่มันก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าอยู่ดี จนกระทั่งในเวลานั้นเอง ได้มีการใช้ยาสลบคลอโรฟอร์มและอีเธอร์มากขึ้น จนทำให้ ไนตรัส ออกไซด์ ค่อยๆ ถูกลืมเลือนไปในที่สุด

ในปี ค.ศ. 1848 หรืออีก 4 ปีให้หลัง โฮเรซ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการใช้มีดโกนเฉือนข้อมือ หลังจากที่ดมยาชาคลอโรฟอร์มเพื่อระงับความเจ็บปวด และสิ่งที่เกิดขึ้นในอีก 20 ปีต่อมา การ์ดเนอร์ ควินซี โคลตัน นักแสดงโชว์ผู้ริเริ่มในการนำก๊าซ ไนตรัส ออกไซด์ มาใช้ ได้นำวิธีการของโฮเรซมาใช้จนประสบความสำเร็จ จนทำให้วิธีนี้ถูกใช้แพร่หลายไปทั่วอเมริกาและยุโรป

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : brightside