เชื่อว่าหลายคนคงทราบข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานเป็นอย่างดีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเราคงไม่ต้องย้อนกลับไปเล่าอีก แน่นอนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวอัฟกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะผู้หญิงอัฟกันหลากหลายอาชีพกำลังหวาดหวั่นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
หนึ่งในนั้นก็คือ ชัมเซีย ฮัสซานี จิตรกรสาวที่เคยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยคาบูล เธอเป็นศิลปินแนวสตรีทอาร์ตคนแรกของอัฟกานิสถาน และมักสร้างสรรค์ผลงานของเธอบนผืนผ้าใบและผนังอาคารร้างที่กลายเป็นซากปรักหักพังอยู่เสมอ และต่อไปนี้คือเรื่องราวของเธอพร้อมกับผลงานอันน่าทึ่งไปพร้อม ๆ กัน
ผลงานของฮัสซานีไม่เพียงแต่แสดงถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่เท่านั้น แต่ผลงานของเธอยังสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของการต่อสู้ระหว่างแสงสว่างและความมืดที่เกิดขึ้นกับสถานที่ที่เธอเรียกว่า “บ้าน”
จริง ๆ แล้วฮัสซานีเกิดจากพ่อแม่ชาวอัฟกันในประเทศอิหร่าน แต่เนื่องจากอิหร่านไม่มีกฎหมายให้คนชาติอื่นเป็นสัญชาติอิหร่านได้ เธอจึงต้องกลับมาอยู่ที่อัฟกานิสถานหลังคลอด
พ่อแม่ของเธอประสบปัญหามากมายตั้งแต่ตอนที่เธอยังเด็ก ฮัสซานีเติบโตมาด้วยความยากลำบาก แต่ก็มีสิ่งที่เธอใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจอยู่เสมอนั่นก็คือ “ศิลปะ”
จนกระทั่งในปี 2010 ฮัสซานีได้มีโอกาสเข้าร่วมเวิร์กช็อปด้านกราฟิตีที่ถูกจัดโดย CHU ศิลปินกราฟิตีชื่อดังชาวอังกฤษ ที่ถูกจัดขึ้นในกรุงคาบูล
เธอได้เรียนรู้กราฟิตีเป็นครั้งแรกที่นั่นเกี่ยวกับเทคนิคการพ่นสีและวิธีการทาสีผนังเพื่อสร้างภาพวาดขนาดใหญ่
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฮัสซานีพัฒนาฝีมือและสไตล์ที่เป็นตัวของเธอเอง
ภาพตัวละคร “หญิงสาว” ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเธอ และทำให้ผู้คนจำนวนมากจดจำได้
หญิงสาวโพกศีรษะที่กำลังหลับตา เธอมีขนตายาว ไม่มีจมูกหรือปาก แต่ใบหน้าของเธอมักแสดงอารมณ์โศกเศร้าอยู่เสมอ
หลังจากเวิร์กช็อปเธอค่อย ๆ เริ่มชอบผลงานแนวกราฟิตีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเธอสามารถเปลี่ยนซากปรักหักพังของเมืองให้มีสีสันขึ้นได้
“ฉันเชื่อว่านี่อาจเป็นช่องทางให้ผู้คนได้สัมผัสกับงานศิลปะของฉัน” ฮัสซานีกล่าว
“คนที่ไม่เคยไปนิทรรศการ ไม่เคยได้รับโอกาสในการเพลิดเพลินกับสิ่งใหม่ บางคนถึงกับไปถ่ายรูปด้วยและบางครั้งมันก็ช่วยให้พวกเขามีความบันเทิงได้สัก 2-3 นาทีก็ยังดี”
แต่ปัญหาตอนนี้คือประเทศของเธอก็เริ่มอันตรายมากขึ้น เธอจึงไม่สามารถออกไปสร้างสรรค์ผลงานได้
นอกจากนั้นยังมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เธอต้องเผชิญ ฮัสซานีกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าชาวอัฟกันจะไม่ได้ต่อต้านศิลปะ แต่พวกเขาต่อต้านกิจกรรมของผู้หญิง”
“ดังนั้น เวลามีคนเห็นฉันทำกราฟิตีข้างนอก พวกเขาจะพูดจาไม่ดี สาปแช่ง และบางคนก็เรียกมันว่าบาป”
“เมื่อฉันสร้างผลงานในที่สาธารณะ ฉันจะเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยหลังผ่านไปสัก 15 นาที ฉันจึงต้องรีบออกจากสถานที่นั้น แต่ถ้าฉันมีโอกาสสัก 2-3 ชั่วโมง ผลงานของฉันคงจะดีกว่านี้”
และในสถานการณ์ปัจจุบัน ฮัสซานีกล่าวว่า เธอเห็นผู้หญิงมากมายที่พยายามหนีออกจากประเทศ เห็นอนาคตที่มืดมน และผลของความพยายามตลอดหลายปีที่ผ่านมามันช่างเปล่าประโยชน์
โชคดีที่ฮัสซานีปลอดภัย แต่ความผิดหวังและความเศร้าของเธอทำให้เธอต้องหนีออกนอกประเทศ แต่นั่นอาจเป็นเรื่องดีที่เธอจะได้รับโอกาสแสดงผลงานของเธออย่างเต็มที่ จากโลกใบใหม่ที่ไม่ได้ปิดกั้นผลงานความสร้างสรรค์ของเธออีกต่อไป
ที่มา : boredpanda | shamsiahassani.net | Instagram | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ