คุณหมอเปิดประเด็น หัวใจเซนทอร์ควรอยู่ตรงไหน ในร่างมนุษย์หรือร่างม้า

หลายคนอาจใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการอัปเดตข่าวสารหรือเทรนด์ต่าง ๆ ที่รวดเร็วที่สุด หรือเป็นพื้นที่ใช้ระบายเรื่องราวต่าง ๆ แต่สำหรับคนบางกลุ่มก็เลือกที่จะใช้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ของการถกเถียงหรือดีเบตประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น การถกเถียงของบรรดาคุณหมอผ่านแฮชแท็ก #medtwitter ก็มีความน่าสนใจกว่าที่เราคิดมากนัก

ส่วนเรื่องที่เพชรมายาขอพามาชมต่อไปนี้ เริ่มต้นมาจากคุณหมอท่านหนึ่งนามว่า เฟร็ด วู ได้เปิดประเด็นว่า ถ้าเกิดเราต้องเจอกับผู้ป่วยที่เป็น “เซนทอร์” ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น คุณคิดว่าควรจะวางแผ่นแพดเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าเอาไว้ตรงไหน ?

ตำแหน่ง A คาดว่าหัวใจจะอยู่ในร่างกายมนุษย์ ส่วนตำแหน่ง B คาดว่าหัวใจจะอยู่ในร่างกายม้า

ถ้าตัดเรื่องที่ว่าเซนทอร์ไม่มีจริงล่ะก็ นี่ถือเป็นคำถามที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเซนทอร์ถือเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในเทพนิยายกรีกโบราณ ที่มีร่างกายส่วนบนเป็นมนุษย์ แต่ส่วนลำตัวลงไปเป็นม้า

แค่เพียงไม่นานก็มีคุณหมออีกท่านนามว่า efunkem มาตอบว่า “เริ่มจากส่วน A ก่อน ถ้าไม่ได้ผลให้ลองที่ส่วน B ด้วยจำนวนแผ่นมากที่สุดเท่าที่สามารถ”

ส่วนคุณหมอเฟร็ดมองคนละมุม เขากล่าวว่า “น่าสงสัยว่าหัวใจขนาดมนุษย์เราอาจไม่สามารถรักษาระดับการหมุนเวียนเลือดในร่างกายเซนทอร์ได้ ความเห็นของผมคิดว่าหัวใจน่าจะอยู่ในอกม้า แม้ว่าหัวใจมนุษย์หน้าอกมนุษย์อาจมีหัวใจเสริม เหมือนกับพวกปลาแฮ็กฟิช”

เราไม่รู้ว่าปลาแฮ็กฟิชมีระบบหัวใจอย่างไร แต่นี่คือหน้าตาของปลาแฮ็กฟิช

ส่วนคุณหมอ efunkem กล่าวว่า “สมมติว่ามีหัวใจ 2 ดวง ผมสงสัยว่าหัวใจมนุษย์เอาไว้หล่อเลี้ยงสมอง ผมจึงให้ความสำคัญหัวใจฝั่งนี้ก่อน ถ้าส่วนของม้าขาดเลือดโดยสมบูรณ์และต้องถูกตัดขา ก็ต้องเป็นแบบนั้น”

คุณหมอเฟร็ดกล่าวต่อว่า “คุณไม่คิดหรือว่า ถ้าหัวใจฝั่งมนุษย์หยุดเต้น หัวใจฝั่งม้าจะสามารถหมุนเวียนเลือดมาเลี้ยงสมองได้เพียงพอด้วยตัวมันเอง เอาตรง ๆ ผมก็ไม่รู้อะไรเลย ผมนั่งคิดเรื่องนี้มาทั้งสัปดาห์แล้วเนี่ย”

คุณหมอ efunkem ให้ความเห็นต่อไปว่า “ถ้ามีหัวใจฝั่งม้าอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว วิวัฒนาการจะทำให้หัวใจทางฝั่งมนุษย์หายไป ในกรณีนี้คุณก็ควรที่จะวางแผ่นแพดที่ตำแหน่ง B ก่อน นี่เป็นการออกกำลังสมองที่น่าทึ่งทีเดียว”

“ไม่จำเป็นนะ อย่างปลาแฮ็กฟิชจะมีหัวใจเสริมหลายดวง และอย่างหมึกยักษ์ก็มีระบบการทำงานของหัวใจที่หมุนเวียนเลือดในร่างกายผ่านหัวใจกิ่ง (Branchial Heart) 2 ดวง ที่ทำหน้าที่เพิ่มแรงดันเลือดให้ไหลผ่านเหงือก ธรรมชาติมีความหลากหลายมากกว่าที่คุณคิด!”

สรุปแล้ว ประเด็นเรื่องตำแหน่งหัวใจของเซนทอร์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป เพราะนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้เท่านั้น ไม่มีใครที่สามารถหาคำตอบได้จริง แล้วคุณล่ะ คิดว่าเซนทอร์ควรมีหัวใจอยู่ในตำแหน่งไหน เพราะอะไร ?

ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ