ครอบครัวชาวจีนย้ายไปอยู่ในทะเลทรายเพื่อสู้กับความแห้งแล้งนานกว่า 22 ปี

ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ๋ล้วนอยากมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเจริญ บางคนชื่นชอบที่จะอยู่ใกล้แสงสีและสิ่งอำนวยความสะดวก ส่วนบางคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น แต่จะมีสักกี่คนที่เลือกจะไปอยู่ท่ามกลางพื้นที่ทุรกันดารด้วยความเต็มใจ เหมือนกับครอบครัวชาวจีนผู้นี้

Chinanews.com

หวัง เทียนชาง และครอบครัวของเขาได้ตัดสินใจย้ายไปอาศัยอยู่ในทะเลทรายโกบีเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่พยายามดิ้นรนหนีออกมาจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง แต่นายหวังกลับคิดต่างออกไป เขาเลือกที่จะมาปักหลักอยู่อาศัยที่นี่ จนกระทั่งวันนี้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์ต่อต้านทะเลทรายในประเทศจีนไปแล้ว

พื้นที่ทางธรรมชาติที่กลายสภาพเป็นทะเลทรายคือหนึ่งในปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดของจีน โดยเฉพาะพื้นที่แถบทะเลทรายโกบีที่ทอดยาวไปตามแนวชายแดนติดกับมองโกเลียที่กินพื้นที่มากถึง 1,644 ล้านไร่ และมีแนวโน้มว่ามันกำลังขยับขยายเพิ่มขึ้นในทุกปี

ปัญหาคือเมื่อมันกินพื้นที่เข้าไปใกล้ใจกลางของประเทศจีน พายุทรายขนาดมหึมาก็จะพัดทรายเข้าใส่กรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่อื่น ๆ จนทำให้หลายล้านชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง นั่นจึงทำให้รัฐบาลจีนได้ริเริ่มโครงการ The Grean Green Wall หรือ Three-North Shelter Forest Program ซึ่งเป็นโครงการปลูกป่าที่ออกแบบมาเพื่อสร้างกำแพงต้นไม้ยาว 4,500 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้ทะเลทรายโกบีขยายตัวไปมากกว่านี้

รัฐบาลจีนใช้วิธีการส่งต้นไม้ให้กับผู้คนท้องถิ่น และครอบครัวนายหวังก็คือหนึ่งในฮีโร่ของโครงการนี้

นายหวังเป็นชาวมณฑลกานซู่ นั่นทำให้เขาเติบโตคุ้นเคยกับทะเลทรายโกบีเป็นอย่างบี จนกระทั่ง ข้าวสาลี มันฝรั่ง และข้าวโพดของเขาถูกทำลายจากพายุทะเลทรายหลายครั้ง แทนที่เขาจะหลีกหนีไปให้ไกลจากทะเลทราย นายหวังกลับตัดสินใจสู้กับมันด้วยการพาภรรยาและลูกชายย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ในทะเลทรายในปี 1998

Wang Yinji

พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านกลางทะเลทรายได้พักใหญ่ก็เริ่มลงมือปลูกต้นไม้และต้นอ่อนเพื่อกลบเนินทรายที่อยู่บริเวณรอบ ๆ นอกจากนั้น พวกเขายังทำฟาร์มสัตว์ โดยมีแกะทั้งหมด 60 ตัว อูฐ 7 ตัว และวัว 5 ตัว

Xinyan Yu

ปัญหาคือในช่วง 2-3 ปีแรก ต้นกล้าที่พวกเขาพยายามปลูกกลับถูกลมแรงพัดปลิวไป หลังจากนั้นพวกเขาก็ค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับตัว และเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

China Plus Culture

ในเวลาต่อมา นายหวังกับครอบครัวได้เรียนรู้ว่า การปลูกต้นไม้ภายในที่กำบังจะมีโอกาสรอดมากกว่า และนอกจากนั้นยังมีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการอัดหญ้าแห้งให้ขัดกันเป็นตารางลงไปในทรายจะทำให้ต้นไม้และพุ่มไม้มีโครงสร้างแข็งแรงสมบูรณ์ โดยเฉพาะต้นเฮดีซารุม (Hedysarum) จะมีโอกาสรอดถึง 80% ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายที่แห้งแล้งอย่างรุนแรง

China Plus Culture

“ตอนที่ผมมาที่นี่ครั้งแรก มันเป็นสีเหลืองไปหมด ไม่มีสีเขียวอยู่เลย” นายหวังกล่าว “ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เนินทรายก็จะกินพื้นที่ไปทางใต้ปีละ 6-10 ฟุต”

REUTERS/Carlos Garcia Rawlins

ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นายหวังใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 5.7 ล้านบาท แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นความพยายามของเขา จนกระทั่งปี 2010 รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งเขากับลูกชายให้กลายเป็นผู้ดูแลป่า และมอบหมายให้พวกเขาเป็นหนึ่งในฮีโร่ผู้ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม

Xinyan Yu

ปัจจุบันนายหวังต่อสู้กับทะเลทรายมานาน 22 ปีแล้ว และถึงแม้จะมีปัญหาด้านสุขภาพร้ายแรง เขาก็ไม่มีแผนที่จะหนีไปไหน ส่วนลูกชายของเขา หวัง หยินจี ก็เต็มใจที่จะสานต่อภารกิจของพ่อต่อไปอีกด้วย

Xinyan Yu

สงครามระหว่างครอบครัวหวังกับทะเลทรายยังห่างไกลจากจุดสิ้นสุด แต่ดูเหมือนว่าอย่างน้อยพวกเขาก็สามารถเปลี่ยนบ้านในทะเลทรายของพวกเขาให้กลายเป็นโอเอซิสได้ มันไม่ง่ายเลยที่จะทำสวนสีเขียวท่ามกลางทะเลทรายแบบนี้

 

Xinyan Yu

ถึงแม้ว่าการอุทิศตนของครอบครัวหวังจะได้รับการยกย่องจากชาวจีนหลายล้านคน แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโมเดลการปลูกต้นไม้ของเขามันยากเกินไปที่จะใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำบาดาล เขากับครอบคัวใช้น้ำจากบ่อน้ำเพื่อนำมาใช้รดน้ำอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง แต่สำหรับในพื้นที่ทะเลทรายอื่น ๆ มันคงเป็นไปไม่ได้

REUTERS/CARLOS GARCIA RAWLINS

นอกจากนั้นโครงการ Great Green Wall ยังถูกตั้งคำถามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังเกิดพายุทรายขนาดมหึมาจากทะเลทรายโกบีพัดถล่มกรุงปักกิ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็ยังไม่ยอมแพ้ที่จะสานต่อโครงการนี้ต่อไปให้สำเร็จ ซึ่งตามกำหนดการแล้วโครงการนี้จะแล้วเสร็จประมาณปี 2050 หรืออีก 29 ปีต่อจากนี้

REUTERS/CARLOS GARCIA RAWLINS

แน่นอนว่า ครอบครัวหวังไม่ใช่ฮีโร่เพียงกลุ่มเดียวสำหรับโครงการอันยิ่งใหญ่นี้ ยังมีชาวจีนอีกหลายคนที่เสียสละตนเองต่อสู้กับความแห้งแล้งของทะเลทราย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความทุ่มเทเสียสละเพื่อให้ผู้คนในเมืองได้อยู่รอดปลอดภัย โดยไม่ต้องได้รับผลกระทบจากพายุทะเลทรายอีกต่อไป

Zoe Chen

ที่มา : reutersodditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ