ดวงอาทิตย์ ถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกมนุษย์ และมันมีความยิ่งใหญ่มากเสียจนเราไม่อาจจินตนาการได้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามนุษย์เราพยายามสร้างแหล่งพลังงานความร้อนที่เหมือนกับดวงอาทิตย์ แถมยังมีอุณหภูมิที่สูงกว่าดวงอาทิตย์ของจริงถึง 5 เท่า
The Experiential Advanced Superconducting Tokamak (EAST) คือโรงงานหลอมนิวเคลียร์ฟิวชันที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเซี่ยงไฮ้ โดยถูกออกแบบมาเพื่อสร้าง “พลังงานสะอาดที่ไร้ขีดจำกัด”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทางเจ้าหน้าที่ของโรงงานกำลังจะทดสอบเครื่องกำเนิดพลังงานความร้อนในปี 2022 นี้ และมันสามารถทำอุณหภูมิได้สูงถึง 70,000,000 องศาเซลเซียส จนมันถูกตั้งชื่อว่า “ดวงอาทิตย์เทียม”
มันร้อนแค่ไหน ?
ในขณะที่ดวงอาทิตย์ของเราที่ใหญ่กว่าโลกประมาณ 109 เท่า จะมีอุณหภูมิที่พื้นผิว 5,500 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิที่แกนกลางประมาณ 15,000,000 องศาเซลเซียสเท่านั้น
นั่นหมายความว่าเครื่อง EAST ของจีนสามารถทำอุณหภูมิที่ร้อนกว่าแกนกลางดวงอาทิตย์เกือบ 5 เท่า ซึ่งการทดสอบครั้งล่าสุดได้ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 17 นาที 36 วินาที และจะมีการทดสอบยาวไปจนถึงมิถุนายนปีนี้
กง เซียงจู นักวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์พลาสมาของสถาบันวิทยาศาสตร์จีนกล่าวว่า การดำเนินการครั้งล่าสุดนี้เป็นการวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นพื้นฐานการทดลองต่อการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน
ซง หยุนเทา ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลาสมากล่าวเสริมว่า การทดลองดังกล่าวถือเป็นความท้าทายสถิติโลกอีกครั้ง
โดยสถิติโลกที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้วก็เป็นผลงานของ EAST เช่นกัน ที่สามารถเผาผลาญพลังงานพลาสมาจนได้อุณหภูมิที่สูงถึง 120,000,000 องศาเซลเซียส แต่ก็เป็นการทดลองที่ใช้เวลาเพียง 101 วินาทีเท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะนำไปสู่เป้าหมายเพื่อค้นหาพลังงานสะอาดต่อไป
เครื่อง “ดวงอาทิตย์เทียม” นี้เป็นการเลียนแบบปฏิกิริยาของดวงอาทิตย์ เมื่อเข้าสู่อุณหภูมิที่สูงมาก มันจะเผาผลาญไอโซโทปไฮโดรเจนให้เป็นพลาสมา แล้วหลอมรวมเข้าด้วยกันเพื่อปลดปล่อยพลังงาน
หากพวกเขาสามารถรักษาการทำงานของเครื่องจักรให้นานกว่า 20 นาที ก็จะสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้คนได้มากมายมหาศาล
ในขณะที่โครงการนี้กำลังเริ่มต้นขึ้นและคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายในปี 2040 เนื่องจากการออกแบบและสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันจะใช้เวลานานมาก
แน่นอนว่าจีนกำลังเข้าใกล้การใช้ ‘พลังงานสะอาดที่ไร้ขีดจำกัด’ ไปอีกขั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนโฉมหน้าการใช้พลังงานของมนุษย์โลกในอนาคตก็เป็นได้
ที่มา: ladbible | เรียบเรียงโดย เพชรมายา