ถ้าถามว่าสีเฉลี่ยของ “จักรวาล” คือสีอะไร ? หลายๆ คนคงคิดว่า จักรวาลประกอบด้วยสีดำเป็นหลัก สีเฉลี่ยก็ควรจะเป็นสีดำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้มองว่า สีเฉลี่ยของจักรวาลเป็นสีดำแต่อย่างใด
ในปี 2001 คาร์ล กลาเซบรูค และ อิวาน บัลดรี นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัย จอห์นส ฮอปกินส์ ได้ทำการตรวจสอบวิเคราะห์สเปกตรัมของกาแล็คซีที่แตกต่างกันเพื่อศึกษาการก่อตัวของดวงดาว และตัดสินใจว่าสีของจักรวาลน่าจะเป็นสีขาวอมเขียวหรือเขียวอ่อน
แต่หลังจากที่ทั้งคู่ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสีของแสงทั้งหมดในจักรวาล จึงพบว่าค่าสีเฉลี่ยของจักรวาลไม่ได้เป็นสีเขียวอ่อนอย่างที่พวกเขาเข้าใจ ในรายงานปี 2002 พวกเขาได้แก้ไขข้อมูลใหม่ว่า สีของมันออกแนวเป็นสีขาวเบจอ่อนๆ นั่นเอง
การสำรวจครั้งนี้ ได้รวมกาแล็กซี่มากกว่า 200,000 แห่ง โดยทำการวัดช่วงสเปกตรัมของแสงจากปริมาณมากสุดของจักรวาล และได้ค่า RGB ที่เป็นเลขฐานสิบหกออกมาเป็น #FFF8E7
หลังจากนั้น สีดังกล่าวได้กลายเป็นข่าวอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ Washington Post โดย คาร์ล กลาเซบรูค กล่าวติดตลกในบทความนี้ว่า อยากจะหาชื่อใหม่สำหรับสีของจักรวาลนี้ ซึ่งก็มีผู้ส่งชื่อเข้าร่วมประกวดมากมาย โดยให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องช่วยกันโหวตว่าจะเอาชื่อไหนดี
และผลจากการโหวตชื่อที่ได้อันดับหนึ่ง ตกเป็นชื่อ คาปูชิโน่ คอสมิโก (Cappuccino Cosmico) ที่ถูกตั้งโดย ปีเตอร์ ดรัม แต่ คาร์ล และ อิวาน สองผู้ค้นพบคิดว่าชื่อ คอสมิก ลาเต้ (Cosmic Latte) ที่ ปีเตอร์ ดรัม ตั้งไว้อีกชื่อเหมาะกว่า สุดท้ายชื่อสีเฉลี่ยของจักรวาลจึงตกเป็นชื่อ คอสมิก ลาเต้ นั่นเอง
ส่วนที่มาของชื่อนี้ ปีเตอร์ ดรัม กล่าวว่า เขาอ่านบทความของ Washington Post อยู่ในร้าน Starbucks และพบว่าสีของมันช่างเหมือนกับสีของกาแฟลาเต้ที่เขากำลังดื่มอยู่พอดี
ที่มา : wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา