ย้อนกลับไปในสมัยที่หลายคนยังเป็นเด็ก คุณอาจเคยได้ยินชื่อของดาวหาง “ชูเมกเกอร์-เลวี 9” ที่ทำให้เราได้ตื่นเต้นจากการมองเห็นมันบนท้องฟ้ากันมาบ้าง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า จุดจบของมันก็คือการพุ่งเข้าปะทะกับดาวพฤหัส ดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา
วันนี้เพชรมายาจะพาทุกท่านมารู้จักกับเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัส ซึ่งเป็นหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญในวงการดาราศาสตร์าของเราก็ว่าได้
1. การค้นพบ
ในเดือนมีนาคม 1993 แคโรลิน ชูเมกเกอร์ ยูจีน ชูเมกเกอร์ และเดวิด เลวี 2 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวเมาต์พาโลมาร์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นดาวหางดวงแรกที่ถูกพบในขณะที่มันโคจรรอบดาวเคราะห์ ไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์
นั่นทำให้ดาวหางดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า “ชูเมกเกอร์-เลวี 9” ส่วนเลข 9 มาจากการที่มันเป็นดาวหางดวงที่ 9 ที่ชูเมกเกอร์กับเลวีเป็นผู้ค้นพบ ถึงแม้ว่าจะมีนักดาราศาสตร์บางคนเคยถ่ายภาพดาวหางดวงนี้เอาไว้ก่อนแล้วก็ตาม
2. ลักษณะของดาวหาง
ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ไม่ใช่ดาวหางปกติธรรมดา มีนิวเคลียสหลายชิ้นทอดยาวเป็นทางประมาณ 50 พิลิปดา กว้าง 10 พิลิปดา และอยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดีเพียง 4 องศา เมื่อมองจากโลก
นอกจากนั้น ชูเมกเกอร์-เลวี 9 ยังประกอบด้วยชิ้นส่วนดาวหางย่อยจำนวน 21 ชิ้น มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนไปถึงขนาดใหญ่ที่สุดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 กิโลเมตร ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่าแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีได้ฉีกดาวหางแตกออกเป็นชิ้น ๆ ระหว่างการโคจรเข้าใกล้ก่อนหน้าการค้นพบเป็นเวลา 1 ปี
3. โอกาสปะทะกับดาวพฤหัส
จากการศึกษาวงโคจรของดาวหางในเวลาต่อมาพบว่า ชูเมกเกอร์-เลวี 9 มีโอกาสชนเข้ากับดาวพฤหัสสูงในระหว่างเดือนกรกฎาคม 1994 นี่จึงเป็นปรากฎการณ์ที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักดาราศาสตร์ทั่วโลก เนื่องจากไม่เคยมีการเฝ้าสังเกตการชนกันระหว่างวัตถุที่สำคัญในระบบสุริยะมาก่อน
ประโยชน์จากการชนในครั้งนี้จะทำให้นักดาราศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสอย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะการเข้าปะทะกันจะเปิดเผยให้เห็นสภาพบรรยากาศด้านในของดาวพฤหัสออกมาให้เห็น
4. ความรุนแรง
ในเดือนกรกฎาคมปี 1994 ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 ได้พุ่งชนเข้ากับดาวพฤหัสด้วยอัตราความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อวินาที หรือประมาณ 216,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แรงดึงดูดของดาวหางชูเมกเกอร์ได้ฉีกดาวหางออกเป็นชิ้น ๆ ส่งผลให้เกิดการชนที่สามารถมองเห็นได้จำนวน 21 ครั้ง การปะทะครั้งที่ใหญ่ที่สุดมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 6,000,000 ตัน หรือรุนแรงเท่ากับระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ 100,000,000 ลูก
แรงระเบิดมีรัศมีกระจายไปถึง 8,000 กิโลเมตร และเกิดเป็นลูกไฟพุ่งขึ้นสูงกว่า 3,000 กิโลเมตรเหนือยอดเมฆในชั้นบรรยากาศโจเวียน ฝุ่นดาวหางได้ปกคลุมพื้นที่กว้างกว่า 12,000 กิโลเมตร จนกลายเป็นจุดดำขนาดใหญ่ที่มีขนาดพอ ๆ กับโลกของเรา
5. ผลกระทบในระยะยาว
หากคุณได้มีโอกาสส่องไปยังดาวพฤหัสบดีในตอนนั้นก็จะพบกับรอยคล้ำสีน้ำตาลที่ปรากฎอยู่ทางใต้ของดาวพฤหัสอย่างชัดเจน และมันเกิดเป็นร่องรอยแบบนั้นไปนานหลายเดือน โดยสามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งกว่า Great Red Spot หรือจุดแดงใหญ่ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของดาวพฤหัสก็ว่าได้
หลังจากนั้นนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบว่ามีแอมโมเนียและคาร์บอนไดซัลไฟด์ที่ยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศอย่างน้อย 14 เดือนหลังจากการชนกัน โดยมีแอมโมเนียจำนวนมากอยู่ในชั้นสตราโตสเฟียร์
6. ดาวพฤหัสเป็น “เครื่องดูดฝุ่นแห่งระบบสุริยะ”
จากปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า อิทธพลแรงโน้มถ่วงที่รุนแรงของดาวพฤหัสได้ช่วยดึงดูดดาวเคราะห์และดาวหางจำนวนมากให้มาหาตัวเอง ซึ่งอัตราการปะทะที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัสมีมากกว่าบนโลกมนุษย์เราระหว่าง 2,000 ถึง 8,000 เท่า
หากคุณคิดว่าการชนกันของดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 รุนแรงแล้วล่ะก็ มันก็ยังไม่เทียบเท่ากับความรุนแรงจากการที่โลกเราต้องเผชิญกับดาวเคราะห์น้อยขนาดความกว้างหลายกิโลเมตรพุ่งเข้าชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน จนทำให้ไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์ไปจากโลก ซึ่งเพชรมายาจะขอนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสถัดไป
ที่มา : wikipedia | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ