การใช้วัตถุดิบแปลก ๆ ในขนมมีให้เราเห็นอยู่เสมอ ถึงแม้จะไม่บ่อยก็ตาม แต่จะมีสักกี่คนที่นำ “ขี้เลื่อย” เป็นวัตถุดิบที่ใส่ลงไปเป็นส่วนผสม แถมยังทำมันมานานนับสิบปีแล้ว
นี่คือเรื่องราวของคนทำขนมปังชาวเยอรมันรายหนึ่งที่ขายคุกกี้ที่ทำจากขี้เลื่อยมานานกว่า 2 ทศวรรษ จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลปกครองในเมืองคาร์ลสรูเออได้ตัดสินให้เขาห้ามขายคุกกี้ที่ทำจากขี้เลื่อยอีกต่อไป แม้เขาจะอ้างว่ามันไม่ต่างอะไรจากผักก็ตาม
คนทำขนมปังชาวเยอรมันรายนี้ทำธุรกิจขายคุกกี้ทางไปรษณีย์มาอย่างยาวนานทั่วประเทศเยอรมนี เขาเปิดเผยส่วนผสมของคุกกี้อย่างชัดเจนบนแพ็คเกจของเขา และก็มีลูกค้าจำนวนมากที่รับได้ในเรื่องนี้ และพร้อมที่จะเป็นลูกค้าของเขามาอย่างยาวนานเช่นกัน
ย้อนกลับไปในปี 2004 เขาเคยแจ้งเรื่องนี้กับทางเมืองคาลส์รูเออแต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบใด ๆ จนกระทั่งปี 2017 ได้มีการตรวจสอบคุกกี้ของเขาอย่างจริงจังจนนำไปสู่การขึ้นโรงขึ้นศาลในเวลาต่อมา
หนึ่งในรายละเอียดคำตัดสินระบุว่า “คุกกี้เหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารเพราะมันไม่ปลอดภัย ถ้ามองแบบไม่อคติก็จะเห็นว่ามันไม่เหมาะสำหรับให้มนุษย์บริโภคเลย”
ในรายละเอียดยังระบุต่ออีกว่า “ถึงแม้ผู้ขายจะอ้างว่า ขี้เลื่อยเป็นส่วนผสมที่มีมาแต่โบราณ แต่ที่จริงแล้วมันไม่ได้ถูกใช้แม้แต่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ด้วยซ้ำไป”
ศาลโต้แย้งว่า ขี้เลื่อยถูกใช้ทำอย่างอื่นและไม่เคยอยู่ในรายชื่อส่วนผสมที่รับประทานได้ที่ได้รับการอนุมัติจากสหภาพยุโรป นอกจากนั้นยังไม่มีหลักฐานการใช้ขี้เลื่อยเพื่อการบริโภคของมนุษย์ หรือระบุว่ามันคือวัตถุดิบที่มีความปลอดภัยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ส่วนคนทำขนมปังอ้างว่า ขี้เลื่อยที่เขาใช้ในคุกกี้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติที่คล้ายกับรำข้าว จึงเหมาะอย่างมากที่จะใช้แทนแป้งได้ ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์เราก็มีการใช้ขี้เลื่อยและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ต่าง ๆ มากมายมาใช้ในอาหาร นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน
ถ้าจะว่ากันตามข้อเท็จจริง ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 นักทำขนมปังจำนวนมากก็เริ่มใช้ขี้เลื่อยเป็นส่วนผสมในขนมปังของพวกเขา เนื่องจากมันช่วยลดต้นทุนและสามารถดึงดูดลูกค้าได้อีกด้วย
“เจ้าของโรงเลื่อยไม้ที่ฉลาดบางคนคิดว่า ถ้าเราเอาแป้งผสมกับขี้เลื่อยล่ะ” ไบรอัน แม็คโดนัลด์ นักประวัติศาสตร์ด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตกล่าวถึงการใช้ขี้เลื่อยในอาหารเมื่อในอดีต “เราขายของตามน้ำหนัก และผู้คนก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า อะไรคือแป้ง อะไรคือขี้เลื่อย”
ส่วนโอกาสทำธุรกิจคุกกี้ขี้เลื่อยของคนขายขนมปังรายนี้ก็ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพราะเขายังมีโอกาสยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฏหมายต่อไป
ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ