คุณคิดว่าการใช้ชีวิตในขั้วโลกใต้จะมีความยากลำบากขนาดไหน ? ขนาดเราเจออากาศเย็นบนดอยที่อุณหภูมิเลขตัวเดียว ก็ยังหนาวสั่นจนไม่เป็นอันทำอะไร แต่ถ้าเราเจออากาศที่หนาวเย็นกว่านั้นเป็นสิบเท่าล่ะ คุณคิดว่าจะยังใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติหรือเปล่า ?
ไซเปรียน แวร์โซ นักชีวดาราศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็ง ได้มีโอกาสไปทำงานอยู่ที่สถานีวิจัยคอนคอร์เดีย ในทวีปแอนตาร์กติกา หรือบริเวณขั้้วโลกใต้ ซึ่งถือเป็นศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ห่างไกลผู้คนมากที่สุดในโลก ไกลยิ่งกว่าการขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติที่อยู่เหนือพื้นโลกไป 400 กิโลเมตรเสียอีก และนั่นทำให้ไซเปรียนต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศอันหฤโหด ซึ่งท้าทายและอันตรายกว่าการเดินทางไปอวกาศเสียอีก
ในช่วงนอกเหนือจากเวลาการทำงานวิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศในอดีต ไซเปรียนก็มักจะแชร์ประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายนี้ ให้กับผู้ติดตามของเขาได้เห็น
และเพื่อความบันเทิง ไซเปรียนตัดสินใจ “ทำอาหาร” ข้างนอกสถานีวิจัยที่่มีอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และนั่นทำให้เราเห็นว่า ความหนาวเย็นของที่นี่มันน่ากลัวขนาดไหน
มันเหมือนเป็นเกมอย่างหนึ่งของไซเปรียน ภาพการทำอาหารของเขาดูเหมือนจะดูอยู่นอกเหนือกฏแรงโน้มถ่วงไปเสียแล้ว
แค่พยายามตอกไข่ใส่กระทะ เสี้ยววินาทีหลังจากไข่แตก ก็แข็งค้างกลางอากาศอย่างน่าเหลือเชื่อ
ไซเปรียนกล่าวว่า “มันคือสถานที่ๆ หนาวเหน็บที่สุดบนโลก ด้วยอุณหภูมิที่อาจต่ำถึง -80 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว”
“เราเห็นพระอาทิตย์อีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่มันหายลับไปจากขอบฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน สภาพอากาศที่นี่แห้งแล้งและออกซิเจนก็มีน้อยมาก”
“อาหารสดของเราหมดเกลี้ยงตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาว ดังนั้นเราจึงต้องกินอาหารแช่แข็งเสียเป็นส่วนใหญ่”
“ที่สถานทีแห่งนี้ เรามีคณะทำงานกันทั้งหมด 13 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์และช่างเทคนิค นอกจากนั้นก็มีพ่อครัวและหมออย่างละคน”
“ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ๆ ไม่น่ามาอยู่สักเท่าไหร่ แต่คอนคอร์เดียก็ยังคงน่าสนใจอย่างมากสำหรับนักวิจัยสาขาต่างๆ เช่น ดาราศาสตร์และสรีรศาสตร์”
“โดยทาง ESA หรือสำนักงานอวกาศยุโรป ใช้สถานีแห่งนี้ในการศึกษาการปรับตัวของมนุษย์ต่อสภาพแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับสถานีบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาธารน้ำแข็ง ด้านบรรยากาศศาสตร์ และด้านธรณีฟิสิกส์”
ไซเปรียนและเพื่อนร่วมงานของเขากำลังศึกษาเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมาในอดีต ซึ่งมันทำให้เราเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต
“การวิจัยที่นี่ทำให้เราทราบข้อมูลทีทรงคุณค่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องขอบคุณโครงการ EPICA ที่มีเป้าหมายในการศึกษาชั้นบรรยากาศโลกในอดีต ซึ่งทำให้เรารู้ว่า ระดับก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ไม่เคยเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านี้มาก่อนในช่วง 8 แสนปีที่ผ่านมา”
เห็นสภาพอากาศแบบนี้แล้ว เป็นคุณจะกล้าไปเผชิญกับความหนาวเย็นระดับ -70 องศาหรือเปล่า และอากาศหนาวสุดที่คุณเคยเจอมาคือกี่องศากันบ้าง ?
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา