นักเรียน ม.ปลายญี่ปุ่นสร้างเครื่องตัดเค้กที่แม่นยำเท่ากันเป๊ะทุกชิ้น

บ่อยครั้งที่การตัดแบ่งขนมเค้กแสนอร่อยกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและเพื่อนฝูง หลังจากที่ได้เห็นคนใกล้ชิดที่คุณไว้ใจตัดแบ่งขนมเค้กอย่างไม่ยุติธรรม โดยการตัดก้อนใหญ่ให้ตัวเองและคุณก็ได้ส่วนแบ่งก้อนเล็กไป

แน่นอนว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกคาใจอยู่นิด ๆ

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่นได้ชนะเลิศการแข่งขันด้านนวัตนกรรมระดับภูมิภาคด้วยอุปกรณ์แสนไฮเทคที่ช่วยตัดแบ่งขนมเค้กรวมถึงพิซซ่าออกเป็นส่วน ๆ แบบเท่ากันเป๊ะ

ต้องขอบคุณทีมนักเรียนมัธยมปลายคุนดงจากจังหวัดโออิตะของญี่ปุ่นที่สามารถแก้ปัญหาโลกแตกนี้ได้สำเร็จ เพราะต่อจากนี้การแบ่งขนมเค้กและพิซซ่าที่ไม่เท่ากันจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะอุปกรณ์ของพวกเขาสามารถคำนวณองศาของมุมที่อย่างแม่นยำ โดยขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้นที่คุณต้องการ

วาตารุ โอโนดะ นักเรียนวัย 16 ปี ที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยม 5 ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างเครื่องมือนี้จากประสบการณ์ภายในครอบครัวของเขาเอง เมื่อต้องตัดเค้กวันเกิดออกเป็นทั้งหมด 7 ชิ้นสำหรับสมาชิกในครอบครัวทุกคน

ปัญหาคือแม่ของวาตารุตัดแบ่งเค้กออกเป็น 8 ชิ้นให้กับเขาและน้องสาวทั้ง 2 คน และนั่นหมายความว่าต้องมีคนที่ได้ขนมเค้กเพียงแค่ 2 ชิ้นเท่านั้น และผลสุดท้ายพวกเขาก็ต้องเล่นเป่ายิงฉุบเพื่อตัดสินว่าใครจะอด

จากปัญหาเล็ก ๆ ภายในครอบครัวของวาตารุ ส่งผลให้เขาตัดสินใจร่วมมือกับเพื่อน ๆ อีก 2 คน ได้แก่ รินโตะ คิมูระ วัย 17 ปี และ มิตสึมิ ไซมาเอะ อายุ 18 ปี ช่วยกันสร้างอุปกรณ์ที่สามารถแบ่งขนมเค้กทรงกลมให้ออกมาเป็นชิ้นเท่า ๆ กันได้สำเร็จ

และพวกเขาก็ตั้งชื่ออุปกรณ์ชิ้นนี้ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “กลมเกลียวกันทุกคน”

อุปกรณ์ดังกล่าวมีลักษณะเหมือนแผ่นจานหมุนคล้ายกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้วางขนมเค้กหรือพิซซ่า และระบบเลเซอร์ที่ฉายมุมที่แม่นยำเพื่อนำทางคุณให้ใช้มีดตัดขนมเค้กทุก ๆ ชิ้นให้เท่ากันด้วยการใช้คณิตศาสตร์คำนวณ ที่ผู้ใช้ต้องทำก็คือการปรับลูกศรตามจำนวนชิ้นที่ต้องการ

ที่สำคัญก็คือ ไม่มีส่วนใดของอุปกรณ์ที่สัมผัสกับขนมเค้ก ดังนั้นคุณจึงสามารถมั่นใจเรื่องสุขอนามัยได้อย่างแน่นอน

โครงการของ วาตารุ โอโนดะ ได้รับรางวัลจากผู้ว่าการจังหวัดโออิตะในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์คุฟุ ครั้งที่ 80 ซึ่งเป็นงานประจำปีที่ถูกจัดขึ้นเพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กนักเรียน และเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจในทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์อีกด้วย

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา