แบคทีเรียที่ทนทานที่สุดในโลก ที่ทนได้ทุกอย่างและฟื้นฟูตัวเองได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

คุณอาจคิดว่า หมีน้ำ (Tardigrade) คือสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่จริง ๆ แล้วยังมีสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่มีความสามารถเหนือกว่านั้น เนื่องจากมันมีพลังพิเศษในการซ่อมแซมตัวเองได้ราวกับวูลฟ์เวอรีนและเดดพูล

ชื่อของมันคือ Deinococcus radiodurans แบคทีเรียที่ถูกบันทึกเอาไว้ในกินเนสบุ๊กว่าเป็น “แบคทีเรียที่ทนทานที่สุดในโลก”

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบแบคทีเรียทรงกลมสีแดงชนิดนี้ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ Deinococcus radiodurans หลังจากที่พวกเขาตรวจสอบเนื้อบดกระป๋องที่เสียแล้ว แม้ว่าจะผ่านการฆ่าเชื้อโดยการฉายรังสีมาแล้วก็ตาม

ต่อมา นักวิทยาศาสตร์พบว่าแบคทีเรียชนิดนี้มีความสามารถทนปริมาณรังสีที่สามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ถึงชีวิตได้ถึง 10,000 เท่า ในขณะที่หมีน้ำทนได้ประมาณ 1,000 เท่า เนื่องจากมันมีพลังพิเศษที่สามารถซ่อมแซม DNA ที่เสียหายได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ศจ.ไมเคิล ดาลี จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอนทานากล่าวว่า DNA ของมันเสียหายเมื่อโดนปริมาณรังสีที่สูงถึง 1,700,000 แร็ด ( หน่วยของปริมาณรังสีดูดกลืน)

“DNA ของมันถูกตัดออกจนหมด มีชิ้นส่วน DNA ระหว่าง 1,000 ถึง 2,000 ชิ้นต่อเซลล์ แต่ทั้งหมดจะฟื้นฟูตัวเองภายในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง” ศจ.ดาลีกล่าว

แต่การทนทานต่อรังสีไม่ใช่สิ่งเดียวที่แบคทีเรียชนิดนี้ทำได้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามันสามารถอยู่รอดในสภาวะที่เลวร้ายได้อย่างสบาย ๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาวะแห้งแล้งที่รุนแรง การขาดสารอาหารอย่างสมบูรณ์ อุณหภูมิที่สูงจัด สภาวะเป็นกรดสูง หรือแม้แต่ในสภาวะสุญญากาศในอวกาศที่ว่างเปล่า

 

ในเดือนสิงหาคม 2020 ได้มีการนำแบคทีเรีย Deinococcus radiodurans ขึ้นไปทดสอบที่สถานีอวกาศนานาชาติซึ่งพบว่า มันสามารถอยู่รอดได้ในอวกาศอย่างน้อย 3 ปี

แบคทีเรียพัฒนาปุ่มบนพื้นผิวของมันหลังจากสัมผัสกับสภาพแวดล้อมในอวกาศเป็นเวลาหนึ่งปี

แบคทีเรียในอวกาศถูกเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่อยู่บนโลก

นั่นหมายความว่าเจ้าแบคทีเรียตัวนี้ได้สนับสนุนทฤษฎีของแพนสเปอร์เมีย ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ว่า อาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ทั่วทั้งจักรวาล โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป

ความสามารถที่โดดเด่นของ Deinococcus radiodurans คือการทนต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายและยังซ่อมแซมตัวเองได้ถูกนำมาศึกษาอย่างกว้างขวางโดยนักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก โดยมีความหวังว่าจะปรับกลไกการอยู่รอดของมันให้เข้ากับมนุษย์ มีการวิจัยเกี่ยวกับจุลชีพที่อาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทางการแพทย์เพื่อปกป้องผู้คนจากผลลัพธ์อันเลวร้ายของพิษจากรังสี

ภาพของ Deinococcus radiodurans ผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน

ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่อาจระบุได้ว่า ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของแบคทีเรียชนิดนี้คือที่ไหน เนื่องจากมีการค้นพบพวกมันในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่ในมูลช้าง ในหินแกรนิตในหุบเขาอันแห้งแล้งของทวีปแอนตาร์กติกา หรือแม้แต่ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์

หลายสิบปีหลังการค้นพบ Deinococcus radiodurans มันจึงถูกบันทึกว่าเป็น “แบคทีเรียที่ทนทานที่สุดในโลก” และหลายคนได้ยกย่องว่ามันคือสิ่งมีชีวิตที่อึดที่สุดในโลก โดยมีการตั้งชื่อเล่นให้กับมันมากมาย เช่น Super Bug และ Conan the Bacterium

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา