เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทโฮคุ ในเมืองเซ็นไดประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศว่าพวกเขากลายเป็นทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการชักนำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในลิง
การทดลองดังกล่าวเป็นการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำแบบซ้ำ ๆ บริเวณสมองใจกลางส่วนหน้า (MFC) ของลิงแสมญี่ปุ่น
นักวิจัยกล่าวว่า การศึกษาภาพสมองของมนุษย์ได้แสดงให้เห็นว่า มีความผิดปกติของสมอง MFC ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ ดังนั้นพวกเขาจึงทดลองกับลิงด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากดทับกิจกรรมของสมอง MFC ทุกส่วน
โดยการกดทับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในลิง โดยสังเกตจากกิจกรรมทางสังคม การเคลื่อนไหวร่างกาย และแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ลดลงทั้งหมด เช่นเดียวกับระดับพลาสมาและคอร์ติซอลที่เพิ่มขึ้น
หลังจากการกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าเป็นที่เรียบร้อย นักวิจัยกล่าวว่าการใช้เคตามีนกับลิงจะช่วยชปรับปรุงสถานะทางพฤติกรรมและทางสรีรวิทยาที่ผิดปกติให้กลับมาเหมือนเดิมได้
ซึ่งหากคุณกำลังเศร้ากับลิงที่อยู่ตรงกลางล่ะก็ คุณไม่ใช่คนเดียวที่คิดแบบนั้น เพราะมีชาวเน็ตญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่แสดงความเห็นอกเห็นใจกับลิงทดลองในโครงการนี้
ตัวอย่างคอมเมนต์ของชาวเน็ต เช่น
“คนที่ทำแบบนี้กับสัตว์ไม่ต่างอะไรกับปีศาจ”
“นี่ไม่ใช่การทดลองที่คุณควรจะทำด้วยซ้ำไป”
“เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่นี่เป็นการทดลองที่โหดร้ายเกินไป”
“ฉันหวังว่าลิงเหล่านี้จะไม่กลับมาซึมเศร้าอีกหลังการทดลองจบลง”
“ผมรู้สึกเจ็บใจที่ลิงเหล่านี้ต้องมาซึมเศร้าเพราะการทดลองเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ มันแสดงให้เห็นว่าสุขภาพของมนุษย์เราถูกสร้างขึ้นจากความเสียสละของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากมาย”
ใช่แล้ว โครงการดังกล่าวไม่ได้ทำการทดลองเพื่ออยากรู้สภาวะจิตใจของลิง แต่มันเป็นการทำความเข้าใจกับสาเหตุของภาวะซึมเศร้าทางระบบประสาทและวิธีรักษาภาวะดังกล่าว
ซึ่งลิงเป็นสัตว์ที่ถูกเลือกเพราะมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์ในแง่ของกิจกรรมในสมอง การแสดงออกทางอารมณ์และสังคม นี่คือการทดลองที่มีราคาที่ต้องจ่าย แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาถามตัวเราเองด้วยคำถามโลกแตกว่า มันคุ้มค่าหรือไม่กับการเสียสละชีวิตสัตว์เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เช่นนี้
ที่มา: soranews24 | Nazology | tohoku