นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 นักแผ่นดินไหวที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ในหลาย ๆ ทวีปได้ตรวจพบ “แรงสั่นสะเทือนลึกลับ” ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ คล้ายกับการทำงานของเครื่องจักรในทุก ๆ 26 วินาที จนมันถูกขนานนามว่าคือ “ชีพจรโลก” แต่จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 60 ปีที่ชีพจรลึกลับนี้ยังคงเป็นปริศนา และไม่มีใครเข้าใจได้อย่างแท้จริงว่าเสียงนี้คืออะไร
“ชีพจรโลก” ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1962 โดย จอห์น โอลิเวอร์ นักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ธรณีวิทยาลามอนต์-โดเฮอร์ตี ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
เขาคาดว่ามันมาจากที่ไหนสักแห่งทางตอนใต้หรือบริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแอตแลนติก และมันชัดเจนมากขึ้นในระหว่างช่วงฤดูร้อนของทางซีกโลกเหนือ
จากนั้น ในปี 1980 แกรี โฮลคอมบ์ นักธรณีวิทยาจากคณะสำรวจทางธรณีวิยาสหรัฐอเมริกาได้ค้นพบชีพจรลึกลับนี้่เช่นกัน เขาสังเกตว่ามันจะรุนแรงขึ้นในระหว่างที่เกิดพายุ แต่ผลงานของทั้งโอลิเวอร์และโฮลคอมบ์เองก็ไม่ได้ไขความกระจ่างในเรื่องนี้แต่อย่างใด ชีพจรโลกยังคงเป็นปริศนาอยู่ต่อมาอีก 2 ทศวรรษ จนกระทั่งนักศึกษารายหนึ่งจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ได้ค้นพบชีพจรลึกลับนี้อีกครั้ง และเขาตัดสินใจที่จะสืบหาความจริงในเรื่องนี้
ไมค์ ริตซ์โวลเลอร์ นักแผ่นดินไหวจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด กล่าวว่า พวกเขากำลังจับตาดูข้อมูลของ เกร็ก เบนเซน นักศึกษาปริญญาโทและนักวิจัย นิโคไล ชาปิโร จนรู้ว่ามีบางอย่างแปลก ๆ เกี่ยวกับชีพจรลึกลับนี้ พวกเขาต้องวิเคราะห์สัญญาณการสั่นสะเทือนจากทุกองค์ประกอบที่เป็นไปได้ รวมถึงวิเคราะห์ตำแหน่งที่มาของชีพจรในอ่าวกินี ชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา
หนึ่งทฤษฎีที่อาจเป็นได้คือ “คลื่น” ที่เป็นตัวการทำให้เกิดชีพจรนี้ นอกจากนั้นยังมีทฤษฎีอื่นที่ระบุว่าอาจเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟในพื้นที่ แต่ก็ไม่เคยมีใครพิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีไหนกันแน่ที่ถูกต้อง
ย้อนกลับไปในปี 2011 การ์เล็ตต์ ยูเลอร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ศึกษาชีพจรลึกลับนี้และเชื่อว่ามันมีจุดกำเนิดอยู่บริเวณอ่าวกินีที่เรียกว่า Bight of Bonny เขาเชื่อว่า เมื่อคลื่นกระทบกับขอบทวีป แรงดันจะก่อตัวขึ้นที่พื้นมหาสมุทรจนเป็นสาเหตุให้เกิดชีพจรที่สะท้อนออกมาเป็นจังหวะคลื่น
ทฤษฎีของยูเลอร์มีความน่าเชื่อถือ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยในเรื่องนี้ ในปี 2013 หยิงจี เซียะ นักวิจัยชาวจีนจากสถาบัน Geodesy and Geophysics ได้เสนอทฤษฎีที่มาของชีพจรลึกลับ 26 วินาที ว่ามันคือการระเบิดของภูเขาไฟ
ทฤษฎีของเขาก็สมเหตุสมผลเช่นเดียวกัน เซียะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของสัญญาณนั้นอยู่ใกล้กับภูเขาไฟบนเกาะเซาตูเม และยังมีชีพจรที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้อยู่อีกที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ที่คล้ายกัน
แต่ทั้ง 2 ทฤษฎีที่กล่าวมา ก็ยังไม่ได้ตอบข้อสงสัยบางเรื่องเช่น หากว่าชีพจรลึกลับเกิดขึ้นที่ Bight of Bony มาจากคลื่นกระทบฝั่งทวีป แล้วทำไมที่อื่นจึงไม่เกิดชีพจรนี้ทั้ง ๆ ที่มีคลื่นกระทบชายฝั่งอยู่ทั่วโลก เช่นเดียวกับการระเบิดของภูเขาไฟเหมือนกัน
สุดท้ายนี้ “ชีพจรโลก” ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ 26 วินาทีก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป เราอาจต้องรอให้มีใครสนใจศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรือต้องมีวิทยาการล้ำสมัยในอนาคตน จนสามารถเข้าใจความลึกลับนี้ได้
ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ