เมื่อเร็ว ๆ นี้ Riken ศูนย์วิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในเมืองโกเบ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาโดยใช้ Fugaku เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกมาช่วยวิเคราะห์ และจากผลการศึกษาพบว่า ละอองฝอยที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ที่ลอยอยู่ในอากาศ สามารถหลุดรอดโล่พลาสติกของ “เฟสชิลด์” ไปได้เกือบ 100%
นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ละอองฝอยขนาดใหญ่กว่า 50 ไมครอนครึ่งหนึ่ง สามารถหลุดรอดออกไปในอากาศได้อีกด้วย
นี่คือคลิปวีดีโอจากมหาวิทยาลัย Florida Atlantic University ที่ทำให้คุณเห็นว่า ละอองฝอยที่ถูกปล่อยออกสามารถหลุดรอดผ่านหน้ากากเฟสชิลด์ไปได้อย่างไร
ศาสตราจารย์มาโคโตะ สึโบคุระ หัวหน้าทีมศูนย์วิจัย Riken ได้กล่าวว่า ทางทีมได้สร้างแบบจำลองโดยการรวมอากาศเข้ากับหยดน้ำลายที่มีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ต่ำกว่า 1 ไมครอนจนไปถึงหลายร้อยไมครอน เพื่อสร้างแบบจำลองการจามร่วมกับการใส่เฟสชิลด์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างเป็นที่น่าตกใจ
“เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ของแบบจำลอง โชคร้ายที่ต้องบอกว่าเฟสชิลด์แทบไม่มีประสิทธิภาพในการกันละอองฝอยที่แพร่กระจายออกมาจากปากคนติดเชื้อได้เลยเมื่อเทียบกับหน้ากากอนามัย”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 20 ไมครอน” ศจ.มาโคโตะอธิบาย “อนุภาคของละอองฝอยขนาดเล็กจะหลุดรอดออกมาได้บริเวณช่องว่างระหว่างเฟสชิลด์กับใบหน้าของคุณ”
เขาเตือนว่าการไม่ควรใส่เฟสชิลด์แทนหน้ากาก เพราะมันแทบไม่ช่วยปัองกันอะไรให้กับคุณเลย
โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Fugaku ที่มีมูลค่าสูงกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ช่วยศึกษาหน้ากากผ้าประเภทต่าง ๆ และได้พบว่า หน้ากากผ้าแบบไม่ถักไม่ทอ (Non-woven) จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าหน้าผ้าคอตตอนและโพลีเอสเตอร์
ส่วนข้อสรุปก็คือ คุณสามารถใส่เฟสชิลด์ได้ แต่อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยควบคู่กันไปด้วย เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ