หลายคนที่มีบ้านที่รับมรดกต่อมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายอาจรู้สึกรักและผูกพันกับบ้านดังกล่าวและไม่อยากที่จะย้ายไปไหน แต่ถ้าคุณได้รับข้อเสนอซื้อบ้านและที่ดินเป็นเงินก้อนโต คุณจะยอมย้ายออกจากบ้านของคุณหรือไม่ ?
นี่คือเรื่องราวของ ทาโคาโอะ ชิโตะ ชาวนาชาวญี่ปุ่นผู้รักบ้านและฟาร์มของตัวเองจนเงินไม่อาจซื้อได้ ครอบครัวของชิโตะปลูกผักทำฟาร์มมานานกว่า 100 ปีอยู่บนที่ดินผืนนี้ มาตั้งแต่รุ่นพ่อของเขาจนไปถึงหลานสาว จนกระทั่งวันหนึ่ง พื้นที่โดยรอบถูกกว้านซื้อไปทำเป็นสนามบิน แต่พ่อของชิโตะไม่ยอมขายที่ดินของเขา
ในอดีต พื้นที่บริเวณนี้คือหมู่บ้านของเกษตรกรที่ประกอบไปด้วย 28 ครอบครัว รวมถึงหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงอีก 66 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ท่ามกลางทุ่งโล่ง จนกระทั่งปลายทศวรรษ 1960 ทางรัฐบาลตัดสินใจสร้างสนามบินนานาชาติโตเกียวใหม่ในเมืองซันริซูกะ (ปัจจุบันคือเมืองนาริตะ และสนามบินก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสนามบินนานาชาตินาริตะ)
ในขณะนั้นเอง ได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประชาชนกับทางรัฐบาลญี่ปุ่นจนถูกขนานนามว่า “ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ” โดยมีผู้คัดค้านการสร้างสนามบินมากถึง 17,500 คน มีการจลาจลเกิดขึ้น เกิดการปะทะที่รุนแรง จนถึงเหตุการณ์ลอบทำลายสนามบินถึง 10 ครั้งตั้งแต่เปิดใช้งานท่าอากาศยานจนถึงปัจจุบัน
ถึงแม้รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดิน แต่รัฐบาลก็ใช้วิธีต่าง ๆ ในการเวนคืนที่ดินของผู้อยู่อาศัยหลายคน สำหรับชาวนาในหมู่บ้านของชิโตะ ทุกคนค่อย ๆ ย้ายออกไปเพื่อแลกกับเงินก้อนโต ยกเว้นแต่คุณพ่อของชิโตะที่ปฏิเสธเงินข้อเสนอกว่า 180 ล้านเยน ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับการทำฟาร์มไปถึง 150 ปี โดยทุกคนในครอบครัวไม่สนใจเรื่องเงินทอง แต่พวกเขาต้องการทำฟาร์มต่อไปมากกว่า
หลังจากคุณพ่อของชิโตะจากไปในวัย 84 ปี เขาได้ลาออกจากการทำงานภัตตาคารเพื่อกลับไปดูแลฟาร์มของครอบครัว
“ดินที่นี่มีคุณภาพดี เพราะมันถูกเก็บเกี่ยวมานานกว่า 100 ปีแล้ว การปลูกผัก เก็บเกี่ยวพืชผล และการส่งของคุณภาพดีให้กับลูกค้าพึงพอใจ คือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข” ชิโตะกล่าว
“ตลอดปี เราปลูกแครอท, หอมใหญ่, กระเทียม, ต้นหอม รวม ๆ แล้วมีผักกว่า 10 ชนิดด้วยกัน ทั้งหมดถูกปลูกแบบธรรมชาติ การทำฟาร์มเป็นงานที่หนักจนผมไม่ค่อยมีเวลาว่าง แต่ในเวลาว่างผมก็จะไปดื่มสังสรรค์และร้องคาราโอเกะเสมอ”
ส่วนผลกระทบในช่วงโควิด ชิโตะกล่าวว่า มันไม่ได้ส่งผลอะไรกับเขาแม้แต่น้อย แถมอากาศยังบริสุทธิ์ขึ้น บ้านของเขาก็เงียบสงบขึ้น เพราะการจราจรทางอากาศน้อยลง
แต่ความสุขของชิโตะและครอบครัวอาจไม่ยั่งยืน เพราะในเดือนธันวาคมปี 2018 ศาลท้องถิ่นของจังหวัดชิบะได้ตัดสินให้มีการบังคับคดีบนที่ดินของชิโตะ ซึ่งมันจะกลายเป็นรันเวย์ที่ 2 ของสนามบินนาริตะ
แต่ในอีกไม่กี่วันต่อมา ศาลอีกแห่งได้ตัดสินให้หยุดการบังคับคดีเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการพิจารณาคดีในศาลสูงโตเกียวจะเริ่มขึ้นในปีถัดไป
ปัจจุบัน ชิโตะกับครอบครัวกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง มีอาสาสมัครและนักกิจกรรมจำนวนมากที่สนับสนุนเขาอยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขายังอยู่อาศัยอยู่ใจกลางสนามบินนาริตะ มีเครื่องบินอยู่เหนือหลังคาบ้านของเขาตลอด 24 ชั่วโมง และวิธีเดียวที่จะเข้าออกฟาร์มได้ก็คือผ่านอุโมงค์ใต้ดิน แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังอาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินบ้านเกิดของเขาอย่างมีความสุขเสมอ
ที่มา : odditycentral | BBC Reel | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ