นกปากแอ่นหางลาย (Bar-tailed Godwit) อายุ 5 เดือน เพิ่งทำลายสถิติการเดินทางย้ายถิ่นฐานที่ไกลที่สุดในโลก หลังจากมันบินไกลถึง 13,560 กม. โดยไม่หยุดพักเลยตลอด 11 วัน
ในทุกฤดูใบไม้ร่วง นกหลากหลายสายพันธุ์นับล้าน ๆ ตัวจะบินขึ้นสู่ท้องฟ้าออกเดินทางไกลเพื่อหนีความหนาวเหน็บ หาอาหาร และผสมพันธุ์ ตลอดหลายเดือนข้างหน้า
มีนกจำนวนไม่น้อยที่สร้างความประทับใจโดยสามารถบินได้ไกลกว่าหมื่นกิโลเมตร แต่ในปีนี้ นกตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่งกลับสร้างความประหลาดใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ โดยมันสามารถเดินทางไกลได้ถึง 13,560 กิโลเมตร โดยไม่หยุดพัก และนั่นกลายเป็นสถิติที่ถูกบันทึกเอาไว้ในกินเนสส์อย่างเป็นทางการ
เมื่อเดือนที่แล้ว นกปากแอ่นหางลาย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของนกในพื้นที่ชุ่มน้ำได้บินออกจากรัฐแอลัสกาของอเมริกาเพื่อไปยังนิวซีแลนด์ในช่วงฤดูหนาว
แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง มีนกปากแอ่นหางลายตัวหนึ่งที่อายุยังน้อยได้เปลี่ยนเส้นทางการบินเล็กน้อย ซึ่งทำให้มันต้องบินไกลเพิ่มไปอีก 500 กิโลเมตร หากเราเปรียบเทียบจากระยะทางกว่า 13,000 กิโลเมตรที่มันบินมาอาจเห็นเป็นระยะทางแค่เล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นความแตกต่างที่สำคัญและอาจส่งผลร้ายแรงสำหรับนกได้
นั่นเป็นเพราะนกบางชนิดอาจบินลงมาที่ผิวน้ำเพื่อพักผ่อนหรือหาอาหาร แต่สำหรับนกปากแอ่นหางลายอาจต่างออกไป
ดร.เอริก โวห์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญจาก Birdlife Tasmania กล่าวกับ ABC News ว่า “ถ้านกปากแอ่นหางลายลงน้ำ มันจะตาย มันไม่มีเท้าที่เป็นพังผืด มันจึงไม่มีทางลงน้ำได้ ดังนั้นถ้ามันตกลงไปในน้ำด้วยความเหนื่อยล้า ถ้าสภาพอากาศเลวร้ายทำให้มันตกลงสู่ผิวน้ำในมหาสมุทร มันจะไม่รอด”
นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามการบินของนกเหล่านี้ผ่านเครื่องติดตามขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเพียง 5 กรัม เพื่อให้พวกเขาสามารถติดตามนกสายพันธุ์เล็ก ๆ ได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อพวกมัน เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลต่อการบินในระยะทางยาวไกลได้
“การติดแท็กดาวเทียมบนนกอัลบาทรอสที่มีน้ำหนัก 5 กิโลกรัมอาจเป็นเรื่องปกติ แต่มันจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในการติดแท็กบนนกที่มีน้ำหนักเพียง 300 หรือ 400 กรัม ซึ่งเป็นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและจริยธรรม” ดร.โวห์เลอร์กล่าว
และจากข้อมูลที่บันทึกไว้แสดงให้เห็นว่า นกปากแอ่นหางลายอายุ 5 เดือนตัวหนึ่งที่บินขึ้นท้องฟ้าเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Yukon Kuskokwim ในแอลัสกา ไปตามเส้นทางปกติข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนที่จะหักเลี้ยว 90 องศาไปยังเส้นทางที่ไม่คาดคิดไปทางแทสเมเนียแทนที่จะเป็นนิวซีแลนด์
ดร.โวห์เลอร์กล่าวว่า นกตัวนี้สูญเสียน้ำหนักตัวประมาณครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นในระหว่างการบินต่อเนื่อง 11 วัน และกลับมายังแผ่นดินได้อย่างปลอดภัย จนสามารถสร้างสถิติใหม่ของกินเนสส์นั่นคือเป็นนกที่สามารถบินไกลที่สุดในโลกโดยไม่หยุดพัก โดยสถิติก่อนหน้านั้นเป็นของนกปากแอ่นหางลายอีกตัวหนึ่งที่บินได้ 12,000 กม. ใน 11 วัน ที่เกิดขึ้นในปี 2020
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ก็คือ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจว่า นกปากแอ่นหางลายสามารถเดินทางในระยะไกลโดยไม่หยุดพักและไม่หลงทางได้อย่างไร
ที่มา: odditycentral