วันหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน Google Maps แสดงเส้นสีแดงอยู่บนถนนซึ่งทุกคนต่างทราบกันดีว่ามันคือสัญลักษณ์ของรถติด แต่หากใครที่ขับรถผ่านมายังถนนเส้นนี้ก็จะพบว่าที่นี่ไม่มีรถติดหรืออุบัติเหตุใด ๆ เกิดขึ้นแม้แต่น้อย แถมถนนยังโล่งอย่างไม่น่าเชื่อ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
ไซมอน เว็กเคิร์ต ศิลปินชาวเยอรมันคือผู้ร้ายตัวจริงในเรื่องนี้ สิ่งที่เขาทำคือการเช่าสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์จำนวน 99 เครื่อง ติดตั้งซิมการ์ด 99 อัน เปิดเครื่อง และใส่มือถือทั้งหมดลงในรถเข็นสีแดงคันเล็ก ๆ จากนั้นก็เดินไปตามท้องถนน
ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่เชื่อหรือไม่ว่า สิ่งที่เขาทำสามารถหลอก Google Maps ให้แสดงเส้นสีแดงบนถนนได้ ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะแทบไม่มีรถบนท้องถนนเลยก็ตาม
ถึงแม้ว่าไซมอนจะทำการทดสอบนี้มาตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว แต่เพิ่งมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาครบรอบ 15 ปีของ Google Maps
และจุดประสงค์ของไซมอนก็คือ การแสดงให้เห็นว่า เราพึ่งพาเทคโนโลยีจากแอปพลิเคชันด้านการจราจรมากแค่ไหน และที่สำคัญก็คือมันสามารถตอบข้อสงสัยที่ทุกคนอยากรู้มานานว่า Google Maps ทำงานอย่างไร
วิธีการทำงานของ Google Maps ที่ใช้คาดการณ์ปริมาณความหนาแน่นบนท้องถนนก็คือการประเมินความหนาแน่นของมือถือที่เปิดแอปพลิเคชันที่ให้เข้าถึง Location ได้
และนั่นเป็นคำอธิบายการทดลองของไซมอนได้อย่างชัดเจนว่า มือถือ 99 เครื่องของเขาสามารถหลอก Google Maps ได้อย่างสนิท
โฆษกของทาง Google ได้กล่าวว่า การทดลองของไซมอนได้ช่วยให้ Google ทราบว่าควรจะปรับปรุงระบบของพวกเขาอย่างไร
ตามปกติแล้ว Google Maps สามารถแยกแยกความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของรถยนต์และรถจักรยานต์ แต่สำหรับรถเข็นแล้วยังคงเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมอยู่
และถ้าหากคุณสงสัยว่า ทำไมรถเมล์ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ใช้สมาร์ทโฟนไม่ส่งผลให้ Google Maps แสดงว่ารถติดล่ะก็ ทาง Google สามารถแยกแยะรถเมล์ได้ง่ายผ่านการระบุพิกัด เช่น การเคลื่อนที่ของผู้คนที่ติดตามกันเป็นกลุ่มและหยุดในสถานที่ ๆ คาดเดาได้ เช่น ป้ายรถเมล์
จุดประสงค์ของไซมอน เว็กเคิร์ต
ไซมอนต้องการแสดงให้เราเห็นว่า เราพึ่งพาข้อมูลจากการทำนายความเป็นจริงมากแค่ไหน นั่นทำให้เราวางแผนการกระทำของเราจากตัวช่วยเหล่านี้ เชื่อมันว่ามันคือความจริง แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อาจตีความข้อมูลผิดพลาด จนนำไปสู่การแสดงผลที่ไม่ถูกต้อง
ถึงแม้เราจะทราบดีว่า การตีความข้อมูลของ Google Maps ยังคงมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่อาจหลีกหนีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่าง Google Maps ได้จริง ๆ
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ