แฮ็กฟิช ปลาที่ปล่อยเมือกประหลาดป้องกันตัวจนไม่มีนักล่าทำอันตรายได้

เมื่อมองแวบแรก แฮ็กฟิชคือสิ่งมีชีวิตที่เหมือนปลาไหล ดูไม่มีพิษมีภัยและอาศัยอยู่ภายใต้มหาสุมทรเหมือนกับปลาทั่ว ๆ ไปสายพันธุ์หนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดกว่านั้นมาก โดยเฉพาะกลไกป้องกันตัวเองที่ปล่อยสามารถปล่อย “เมือกประหลาด” จนไม่มีใครสามารถทำอันตรายมันได้

แฮ็กฟิชเป็นปลาดึกดำบรรพ์ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก ดังนั้นดวงตาของมันจึงแทบไม่สามารถช่วยในการมองเห็นได้ มันจึงใช้ชีวิตในการเลื้อยหาเศษอาหารใต้ท้องทะเลเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่สิ่งที่ทำให้มันโดดเด่นอย่างแรกก็คือโครงสร้างร่างกายที่มีแต่กระโหลกและไม่มีขากรรไกรและกระดูกสันหลัง ด้วยลักษณะเช่นนี้จึงทำให้มันสามารถผูกร่างกายตัวเองเป็นปมเพื่อรีดเมือกเหนียวออกมาจากผิวหนังได้

นอกจากนั้นพวกมันสามารถชอนไขเข้าไปในผิวหนังของสัตว์ที่ตายแล้วหรือใกล้ตายด้วยการใช้ฟันเจาะเข้าไป แต่พวกมันไม่ได้ใช้ฟันจริง ๆ ในการเคี้ยวอาหาร เพราะมันสามารถดูดซับสารอาหารผ่านผิวหนังและอยู่ได้เป็นเดือนโดยไม่ต้องกิน แต่ความประหลาดของมันเหล่านี้ยังไม่ได้เกี่ยวกับเมือกของพวกมันสักนิดเดียว

เมื่อตาของมันมองไม่ค่อยเห็น และฟันที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ค่อยได้ ดังนั้นแฮ็กฟิชจึงมีอาวุธลับที่เหนือชั้นจนสัตว์นักล่าคาดไม่ถึง ทุกครั้งที่มันถูกคุกคามหรือตกใจ มันจะปล่อยเมือกเหนียว ๆ ที่สามารถดักจับ เกาะติด ถ่วงเวลา หรือแม้กระทั่งทำให้ศัตรูหายใจไม่ออกจนต้องหนีไป มันเป็นกลไกการป้องกันตัวเองที่น่าทึ่งมาก ๆ

จากคลิปนี้จะเห็นว่า ไม่มีสัตว์นักล่าที่สามารถทำอะไรพวกมันได้

แฮ็กฟิชสามารถผลิตเมือกเจลาตินจากต่อมบนผิวหนังตามร่างกาย ต่อมหนึ่งสามารถผลิตเส้นเมือกที่ขดเป็นเกลียวที่ซับซ้อนที่ยาวประมาณ 6 นิ้วหรืออีกแบบก็คือมีลักษณะเป็นฟอง และเมื่อต่อมเมือกนับ 100 ปล่อยเมือกออกมาพร้อม ๆ กัน ก็ทำให้เกิดเป็นเมือกตาข่ายที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉลี่ยแล้ว แฮ็กฟิช 1 ตัวจะผลิตเมือกนี้ได้ประมาณ 1 ช้อนชา แต่ในเวลาแค่เสี้ยววินาทีมันจะชยายตัวออกเป็น 10,000 เท่า ซึ่งเพียงพอที่จะเติมลงในถังน้ำได้สบาย ๆ และความหนาแน่นของเมือกก็เพียงพอที่จะยับยั้งสัตว์นักล่าได้แทบทุกชนิดหลังจากสัมผัสกับมัน

ดักลาส ฟัดจ์ นักวิจัยด้านวัสดุชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยแชปแมนกล่าวว่า “เมือกก่อตัวเร็วมาก มันเกาะติดได้ดีอย่างเหลือเชื่อ ดังนั้นปลานักล่าจึงล้มเลิกการโจมตีแฮ็กฟิช เนื่องจากพวกมันไม่สามารถจัดการกับเมือกได้”

โชคดีที่มนุษย์เราไม่ต้องเจอกับเมือกของแฮ็กฟิชสักเท่าไหร่ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เราต้องจดจำเมือกของพวกมันไปอีกนาน หลังจากที่รถเก๋งคันหนึ่งที่บรรทุกปลาแฮ็กฟิชเกิดประสบอุบัติเหตุและพวกมันก็กระจัดกระจายออกมาเต็มพื้นถนน พร้อมกับปล่อยเมือกเหนียวออกมาเป็นจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องปิดถนนและใช้รถแทรกเตอร์เกลี่ยดินมาช่วยทำความสะอาด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมือกของมันดูน่าขยะแขยง แต่นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันเป็นหนึ่งในสารที่มหัศจรรย์ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา ถ้าหากดูด้วยตาเปล่ามันคือเมือก แต่ด้วยคุณสมบัติของมันเหมือนจะเป็นใยแมงมุมที่สามารถดักจับได้แม้แต่ของเหลวอย่างน้ำ และมันมีความแข็งแรงกว่าไนลอนถึง 10 เท่า มีความบางกว่าเส้นผมมนุษย์ และมีความยืดหยุ่นสูงมาก

เมือกของแฮ็กฟิชยังเป็นวัสดุที่นุ่มที่สุดที่ถูกพบในธรรมชาติ มันมีความนุ่มกว่าเจลลี่ระหว่าง 10,000 ถึง 100,000 เท่า มีความใสจนเหมือน้ำเปล่าจนกระทั่งคุณสอดมือเข้ามาและพบว่าไม่สามารถสลัดมันออกไปได้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาวิจัยเมือกของแฮ็กฟิช เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสร้างวัสดุเลียนแบบขึ้นมาได้ และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การนำไปใช้ในอุปกรณ์ป้องกันภัย เช่นหมวกกันน็อกและเสื้อเกราะเคฟลาร์ หรือแม้แต่ทางการแพทย์ เช่นการทดแทนเส้นเอ็นหรือเนื้อเยื่อที่เสียหาย

แต่ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่น่ายุ่งด้วยมากขนาดไหน แต่มนุษย์เราก็ยังนำแฮ็กฟิชมารับประทานได้โดยเฉพาะในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ส่วนในน่านน้ำไทยเคยมีรายงานการพบแฮ็กฟิชในฝั่งอันดามันเช่นกัน แต่ถือเป็นโชคดีของเจ้าแฮ็กฟิชที่มันอาศัยอยู่ในน้ำลึกกว่า 200 เมตร ไม่เช่นนั้นมันอาจเป็นหนึ่งในอาหารอันโอชะของคนไทยไปแล้วก็ได้

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา