เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเห็นเครื่องจับเท็จในภาพยนตร์กันมาบ้าง ซึ่งในชีวิตจริงเองก็มีการใช้เครื่องจับเท็จนี้ทดสอบกับการจ้างงานบางประเภท การตรวจสอบทุจริตในบริษัท แล้วสมมุติว่าถ้าเป็นคุณที่ต้องโดนเข้าไปอยู่ในเครื่องจับเท็จนี้ล่ะ คุณคิดว่าจะเก็บความลับตัวเองอยู่ได้หรือเปล่า ? ซึ่งวันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านไปชมวิธีผ่านเครื่องจับเท็จเหล่านี้กัน
แล้วเจ้าเครื่องจับเท็จที่เรียกว่า “โพลีกราฟ” มันทำงานอย่างไร ?
คุณอาจไม่รู้ว่าเจ้าเครื่องโพลีกราฟเนี่ย มันไม่ได้จับโกหกได้ด้วยตัวมันเอง แต่มันจับการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของคุณที่เกิดขึ้นในร่างกาย เวลาที่บุคคลนั้นกำลังพูดโกหก เช่น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น การเต้นของหัวใจ (วัดความดัน) การหายใจ หรือแม้แต่การขับเหงื่อออกจากร่างกาย
ส่วนเครื่องจับเท็จสมัยใหม่สามารถตรวจจับปฏิกิริยาได้ถึง 50 แบบที่แตกต่างกัน เช่น การขยายตัวของเส้นเลือดฝอย ที่เป็นผลสะท้อนทันทีเวลาเจอคำถามที่น่าตกใจ แต่ถึงอย่างนั้น บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังใช้การศึกษาปฏิกิริยาแบบพื้นฐานมากกว่าที่จะเจาะลึกไปถึงสิ่งเหล่านี้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การตีความผลลัพธ์ของเครื่องจับเท็จนั้นเป็น “ศิลปะ” มากกว่า “วิทยาศาสตร์” เพราะสุดท้าย การตีความว่าใครสักคนจะโกหกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การตีความ และการตัดสินใจของผู้ตรวจสอบ งานของพวกเขาคือการเลือกใช้คำถามที่ถูกต้องตรงกับบุคลิกภาพของแต่ละคน การคำนึงถึงความแตกต่างทางสรีระวิทยา และความสามารถในการตีความได้อย่างถูกต้อง
6 วิธีการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่เครื่องจับเท็จ
1. ร่างกายต้องพร้อม
คุณจำเป็นต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมงก่อนเข้าเครื่องจับเท็จ ทำให้ร่างกายมีความพร้อมที่สุด นอนหลับให้เพียงพอ ไม่หิวและไม่กินอิ่มจนเกินไป แต่งตัวในเสื้อผ้าที่สบายๆ การใช้ชีวิตประจำวันในแบบที่เคยเป็น ทำให้ร่างกายไม่รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง จะช่วยป้องกันการเต้นของหัวใจที่ไม่คงที่ หากคุณวิ่งจ๊อกกิ้งทุกเช้า กินดื่มกาแฟทุกวันในตอนสายๆ ทำมันให้เป็นปกติเหมือนเดิมซะ
2. ปล่อยให้กังวลใจได้ตามปกติ
ความรู้สึกกระวนกระวายใจถือเป็นเรื่องปกติ นอกจากนั้นมันยังช่วยให้คุณสามารถผ่านการทดสอบได้อีกด้วย จากสถิติพบว่า ผู้คนที่รู้สึกกังวลใจในการตอบแต่ละคำถามสามารถผ่านการทดสอบได้ไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่คุณควรรู้เอาไว้ก็คือ
ในการตรวจสอบปฏิกิริยาทางร่างกายขั้นพื้นฐานของคุณ พวกเขาจะใช้คำถามที่เรียกว่า คำถามควบคุม (Control Question) คือ คำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี แต่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่อาจจะเคยทำในอดีต ใช้ในการกระตุ้นความกลัวความผิดในอดีต และคำถามที่สัมพันธ์กับคดี (Relevant Question)
คำถามควบคุม เช่น คุณเคยขโมยของหรือไม่ ?
คำถามที่สัมพันธ์กับคดี เช่น คุณเคยขโมยอะไรในที่ทำงานคุณหรือเปล่า ?
ตามปกติแล้วถ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะมีปฏิกิริยาต่อคำถาม “คำถามควบคุม” มากกว่า เพราะเขารู้ว่าตัวเองโกหก แต่ว่าพอมาถึง “คำถามที่สัมพันธ์กับคดี” ปฏิกิริยาจะต่ำลง เพราะว่าเขาพูดความจริง แต่ถ้าเป็นคนร้ายตัวจริงจะมีปฏิกิริยาตรงกันข้าม
ดังนั้นถ้าผู้เข้าทดสอบมีปฏิกิริยากับคำถามแบบแรกมากกว่า “เขาผ่าน” แต่ถ้ามีปฏิกิริยากับคำถามแบบหลังมากกว่า “เขาตก”
ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า ถ้าคุณเจอคำถามควบคุม การคิดถึงเรื่องน่ากลัว ตื่นเต้น หรือการพยายามแก้โจทย์เลขยากๆ ในหัว หรือแม้แต่การกัดลิ้น จะทำให้เครื่องจับเท็จตีความว่าเป็นการ “โกหก” และนั่นจะถูกตีความว่าคุณเป็นผู้บริสุทธิ์ได้
3. พยายามไม่โกหกกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
พยายามตอบทุกคำถามด้วยความจริงที่สุดเท่าที่จะตอบได้ โดยไม่ต้องอายที่จะซ่อนมันเอาไว้ ยิ่งสิ่งที่คุณพูดเป็นจริงมากเท่าไหร่ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้นเท่านั้น บ่อยครั้งที่ผู้คนมักจะโกหกสิ่งเล็กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องซีเรียส หรือกังวลเกี่ยวกับคำถามกับดักมากเกินไป ในขณะที่คนที่ผ่านการทดสอบส่วนใหญ่ จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว ควรจะระวังเรื่องไหนบ้าง
4. อย่ารีบ
คำถามแต่ละคำถามอาจถูกถาม 3-6 ครั้ง ในระหว่างการทดสอบ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคุณถึงไม่ต้องรีบตอบ เพราะความรีบร้อนของคุณจะทำให้คำตอบผิดเพี้ยนไปจากเดิมมได้ ดังนั้นควรฟังคำถามแต่ละข้อให้จบ พยายามทำความเข้าใจ และใช้เวลาในการตอบอย่างเหมาะสม
การทิ้งช่วงเวลาสักระยะก่อนจะตอบคำถาม คุณจะต้องดูว่าคำถามที่ถูกถามมา เป็นคำถามประเภทไหน เช่น คำถามทั่วไปที่ไม่สัมพันธ์กับคดี เช่น คุณชื่ออะไร หรือจะเป็นคำถามที่สัมพันธ์กับคดี และคำถามควบคุม ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 2
5. จินตนาการถึงเรื่องที่น่ายินดี
วิธีนี้เองถือว่าใช้ได้ผลสำเร็จมาแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้วิธีนี้ได้ เพราะต้องเป็นคนที่ควบคุมตัวเองได้จริงๆ เท่านั้น ส่วนเหตุผลก็คือการคิดในแง่ลบจะทำให้เปิดปฏิกิริยาต่อเครื่องจับเท็จได้ง่ายกว่าการคิดในเชิงบวก
เมื่อคุณเจอคำถามที่จำเป็นจะต้องโกหก ลองคิดถึงสิ่งที่น่ารื่นรมย์หรือพยายามรู้สึกผ่อนคลายในระหว่างการทดสอบทั้งหมด จินตนาการว่าตัวเองอยู่ในโลกที่สงบสุข ไม่มีอะไรที่ต้องแคร์อีกต่อไป และนั่นจะทำให้ร่างกายของคุณตอบสนองได้อย่างสมบูรณ์
6. อย่าใช้ลูกเล่นทางกายภาพใดๆ
เทคนิคหลายอย่างที่ส่งผลในเชิงลบต่อร่างกาย เพื่อสร้างผลการทดสอบที่ผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นการกัดลิ้น การใส่หมุดลงในรองเท้าเพื่อสร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกาย เหล่านี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ควบคุมการทดสอบที่มีประสบการณ์สูง บ่อยครั้งที่พวกเขาขอตรวจสอบร่างกายของคุณว่าไม่ได้พกอะไรมาเล่นตุกติกบนร่างกายคุณเอง แถมบางครั้งคุณอาจเจอเครื่องจับเท็จที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างการโกหกกับความเจ็บปวดบนร่างกายได้อีกด้วย
แล้วใครบ้างที่ไม่ควรเข้าเครื่องจับเท็จ ?
ในบางกรณี ผลการทดสอบอาจผิดเพี้ยนไปด้วยเหตุปัจจัยบางอย่าง นอกเหนือจากอาการป่วยทางด้านจิตเวชแล้ว ผู้ที่ไม่ควรเข้าเครื่องจับเท็จได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ คนที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคลมบ้าหมู หรือแม้แต่ผู้ที่ถูกบังคับขืนใจให้เข้าร่วมการทดสอบอีกด้วย
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา