ย้อนกลับไปเมื่อหลายล้านปีก่อน โลกของเราไม่ได้มีทวีปที่แยกจากกันเหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้ เรามีผืนแผ่นดินขนาดมหึมาที่เราเรียกว่า “มหาทวีปแพนเจีย” ซึ่งปกคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของโลกเราใบนี้
มหาทวีปแพนเจียก่อตัวขึ้นจากทวีปย่อยต่าง ๆ เมื่อประมาณ 335 ล้านปีที่แล้ว ก่อนที่จะกลับมาแยกจากกันอีกครั้งราว 175 ล้านปีก่อน จนเริ่มกลายเป็นทวีปที่เราคุ้นเคยอย่างอเมริกาเหนือ-ใต้ แอฟริกา ยูเรเซีย ออสเตรเลีย รวมถึงแอนตาร์กติกา
แต่ถ้าการแตกแยกของทวีปไม่เคยเกิดขึ้นล่ะ โลกของเราจะเป็นอย่างไร ประเทศของเราจะตั้งอยู่ที่ไหน และชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปจากนี้หรือเปล่า
ในทางทฤษฎี ถ้าโลกเรามีแค่มหาทวีปแพนเจียอยู่ล่ะก็ คุณสามารถขับรถจากกรุงเทพไปยังแคลิฟอร์เนีย หรือแม้แต่ป่าแอมะซอนได้ เนื่องจากปลายทางเหล่านี้อยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน
แน่นอนว่าวิวัฒนการของมนุษย์และสัตว์อาจแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ซึงมนุษย์อาจไม่เกิดขึ้นมาบนโลกก็เป็นได้ แต่สมมุติว่าเราอยู่รอดและพัฒนาจนเป็นมนุษย์ทุกวันนี้ โลกจะเป็นอย่างไร
อันดับแรก มาพูดถึงประเทศต่าง ๆ กันก่อน อเมริกาเหนือจะอยู่ติดกับยุโรป เอเชียจะอยู่ทางเหนือ และแอนตาร์กติกาจะอยู่ทางใต้ โดยมีอินเดียและออสเตรเลียอยู่ติดออกไปทางตะวันออกและทางใต้
อินเดียและออสเตรเลียที่เคยมีอากาศร้อนจะกลายเป็นหนาวเย็น ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง พื้นที่ตอนกลางของแพนเจียตลอดแนวชายฝั่งจะมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่หากเดินทางลึกเข้าไปในแผ่นดินมันจะกลายเป็นทะเลทราย
นั่นเป็นเพราะพื้นที่ของแพนเจียมีขนาดใหญ่มาก ฝนที่มาจากมหาสมุทรจะไม่สามารถเดินทางเข้าไปในแผ่นดินได้ไกลพอ ทำให้พื้นที่บางส่วนของแพนเจียที่อยู่ลึกเข้าไปไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
ส่วนสภาพอากาศทางเหนือก็จะแตกต่างออกไปเช่นกัน โดยที่รัสเซียจะอบอุ่นกว่าในทุกวันนี้มาก แต่สภาพอากาศไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงไป
ในแพนเจีย เราจะมีสายพันธุ์ที่หลากหลายน้อยลง สายพันธุ์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในปัจจุบันน่าจะเหลือรอดมาได้ ในขณะที่สัตว์บางตัวจะหายไปเมื่อกลายเป็นทวีปแพนเจีย
พวกมันไม่มีโอกาสวิวัฒนาการ การที่สัตว์น้อยลงจะทำให้การเดินทางง่ายขึ้น
สำหรับประเทศไทยจะอยู่ห่างออกไปทางสุดปลายตะวันออกของทวีปแพนเจีย แต่เราก็สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไปได้ทุกที่ด้วยระยะทางหลายพันกิโลเมตร และเราก็ยังอยู่ติดทะเล ซึ่งประเทศที่ติดทะเลจะได้เปรียบทั้งเรื่องการค้าขาย เศรษฐกิจ การคมนาคม และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
แน่นอนว่าหลายประเทศจะได้เพื่อนบ้านใหม่ ซึ่งอาจเกิดเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น เช่นสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่เป็นมหาสมุทรทั้ง 2 ฝั่ง พวกเขาจะได้แอฟริกา อเมริกาใต้ และยุโรปเป็นเพื่อนบ้านทันที
สุดท้ายถ้าเราไม่มองเรื่องการแบ่งเป็นประเทศเหมือนในปัจจุบัน มนุษย์เราจะถูกวิวัฒนาการขึ้นมาบนพื้นฐานของแผ่นดินเดียวกัน ความแตกต่างเรื่องสีผิว เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี จะน้อยลงกว่านี้มาก
แต่เราก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่า หากมนุษย์มีความเหมือนกันมากกว่านี้ จะมีอะไรการันตีว่าเราจะทะเลาะกันน้อยลงหรือไม่
ที่มา : insh.world | เรียบเรียงโดย เพชรมายา