วัตถุทางดาราศาสตร์ส่วนใหญ่สามารถศึกษาได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับดวงอาทิตย์อาจเป็นคนละเรื่อง เพราะการเพ่งมองดวงอาทิตย์เพียงชั่วครู่ก็สามารถทำลายเครื่องมือที่ละเอียด่อนบนกล้องโทรทรรศน์ที่เจ๋งที่สุดก็เป็นได้
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ National Solar Observatory หรือหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์แห่งชาติถือกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างและใช้งานกล้องโทรทรรศน์ทั่วสหรัฐอเมริกา ให้เหมาะกับการสังเกตดวงอาทิตย์ในแต่ละท้องถิ่น
ส่วนเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของมนุษย์เรา ณ ตอนนี้ก็คือ กล้องโทรทรรศน์สุริยะ Daniel K. Inouye ที่อยู่บนเกาะเมาอิ รัฐฮาวาย ได้เปิดเผยภาพชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราเรียกว่า ‘โครโมสเฟียร์’
โครโมสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศบาง ๆ รอบดวงอาทิตย์ มีขนาดความลึกประมาณ 2,000 กิโลเมตร มีลักษณะโปร่งแสงและมีอุณหภูมิอยู่ราว ๆ 3,700 ถึง 6,100 องศาเซลเซียส โดยมนุษย์เราไม่เคยเห็นความชัดเจนของชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์แบบนี้มาก่อน
ในความเป็นจริงแล้ว ภาพดังกล่าวถูกถ่ายเอาไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เมื่อดวงอาทิตย์อยู่เหนือตำแหน่งของกล้องบนภูเขาไฟฮาเลอาคาลา แต่เพิ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
เปรียบเทียบสเกลของภาพถ่ายกับขนาดของโลก
“Daniel K. Inouye เป็นกล้องโทรทรรศน์สุริยะที่ทรงพลังที่สุดในโลก ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราสำรวจและเข้าใจดวงอาทิตย์ของเราไปตลอดกาล” Sethuraman Panchanathan ผู้อำนวยการมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติกล่าว โดยเขาระบุว่าข้อมูลที่เราได้รับจะช่วยเรามนุษย์สามารถเตรียมพร้อมรับมือปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากดวงอาทิตย์ เช่น พายุสุริยะ
ก่อนหน้านี้ กล้องโทรทรรศน์สุริยะ Daniel K. Inouye เคยเปิดเผย “ภาพพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่คมชัดที่สุด” มาแล้ว ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่า ดวงอาทิตย์ที่ประกอบด้วยก๊าซ ไม่มีพื้นผิวที่เป็นของแข็ง มีพื้นผิวที่แท้จริงเป็นอย่างไร
หลังจากนี้เชื่อว่า เราอาจจะได้เห็นภาพที่น่าทึ่งของดวงอาทิตย์แบบนี้ออกมาเรื่อย ๆ และอาจสร้างการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ให้กับมนุษยชาติเราก็เป็นได้
ที่มา: iflscience | nso.edu