เมื่อพูดถึงดาวพฤหัส หลายคนคงรู้จักกันดีว่านี่คือดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งถ้าวัดกันตามปริมตาร ดาวพฤหัสจะมีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1,300 เท่า และภาพของดาวพฤหัสที่เรารู้จักก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แบบใครเห็นเป็นต้องจำได้
ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลของนาซ่า
แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักดาราศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังกล้องโทรทรรศน์เจมินี (Gemini North) ได้เผยภาพอันน่าทึ่งของดาวพฤหัสออกมา และมันก็ทำให้เราได้เห็นว่าดาวพฤหัสที่เราคุ้นเคย ไม่ได้มีลักษณะอย่างที่เราเคยเห็นอีกต่อไป
เหตุผลที่ภาพของดาวพฤหัสปรากฏออกมาเป็นเช่นนี้ เนื่องจากพวกเขาใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่เรียกว่า Lucky Imaging โดยเป็นการนำภาพถ่ายดาวพฤหัสจำนวนหลายพันภาพมาประกอบกันให้กลายเป็นภาพเดียว จนทำให้เราเห็นรายละเอียดบนพื้นผิวของดาวพฤหัสได้คมชัดที่สุด
เปรียบเทียบภาพที่มีความคมชัดน้อยกับความคมชัดมากที่สุด
การถ่ายภาพในลักษณะนี้ได้ถูกถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์เจมินีในย่านอินฟาเรด ด้วยความไวชัตเตอร์ต่ำแบบต่อเนื่องหลาย ๆ ภาพ แล้วเลือกเอาภาพที่ชัดที่สุดเพียง 10% มารวมกัน
หลังจากนั้น พวกเขายังนำภาพที่ได้มาประมวลผลร่วมกับภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลและข้อมูลจากยานอวกาศจูโน ซึ่งผลลัพธ์ก็คือภาพถ่ายที่ทำให้เรามองทะลุผ่านกลุ่มแก๊สที่ปกคลุมดาวพฤหัส และเผยให้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งอย่างเช่น การก่อตัวของเมฆที่ทำให้เกิดฟ้าผ่าและระบบพายุขนาดใหญ่ที่อยู่บนดาว
ภาพที่แสดงถึงโครงสร้างเมฆบนดาวพฤหัสและวิธีการรวบรวมข้อมูลของยานจูโน กล้องเจมินีและกล้องฮับเบิล
นอกจากนั้นการสำรวจครั้งใหม่นี้ยังช่วยยืนยันว่า จุดดำหลายแห่งที่อยู่ท่ามกลาง “จุดแดงใหญ่” (Great Red Spot) หรือพายุหมุนขนาดยักษ์บริเวณซีกใต้ของดาว จริง ๆ แล้วก็คือช่องว่างของเมฆที่ปกคลุมมันอยู่ ไม่ใช่สีเมฆที่แตกต่างกันแต่อย่างใด
ภาพของจุดแดงใหญ่ที่ถูกรวบรวมข้อมูลด้วยกล้องฮับเบิลและกล้องเจมินี
นี่คือเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวที่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้ดาวเคราะห์แก๊สดวงนี้มากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า มนุษย์เราอาจได้เห็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับดวงดาวในอวกาศมากกว่านี้อย่างแน่นอน
ที่มา : Gemini Observatory | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ