เรื่องราวของ เจมส์ แฮร์ริสัน ชายชาวออสเตรเลียผู้นี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1951 ตอนที่เขาอายุได้ 14 ปี เจมส์เข้ารับการผ่าตัดครั้งใหญ่ โดยครั้งนั้นเอง แพทย์ได้นำปอดของเขาออกไปข้างหนึ่ง เพื่อรักษาชีวิตของเขาไว้ นั่นทำให้เขาต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นเอง เจมส์ได้เรียนรู้ว่าเขาสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้เพราะการถ่ายเลือดจำนวนมากมายที่เขาได้รับ และนั่นทำให้เขาตัดสินใจว่า เขาจะกลับมาเป็นผู้ให้บ้างในสักวันหนึ่ง
กฏหมายในออสเตรเลียเองระบุว่า ผู้ที่จะบริจาคเลือดได้จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ดังนั้นเด็กน้อยจึงรอถึง 4 ปีจนกระทั่งเขาสามารถบริจาคเลือดได้
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี เจมส์ได้บริจาคเลือดของเขาให้กับสภากาชาดออสเตรเลียมากถึง 1,173 ครั้ง โดยเป็นการบริจาคด้วยแขนขวา 1,163 ครั้ง และแขนซ้าย 10 ครั้ง
โดยทางสภากาชาดคิดคำนวณของผู้คนที่เจมส์สามารถช่วยชีวิตเอาไว้ได้ นั้นมีมากมายถึง 2.4 ล้านชีวิตเลยทีเดียว
ดูเหมือน เจมส์ แฮร์ริสัน จะเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆ เพราะไม่ใช่แค่จำนวนเลือดที่เขาบริจาคมากมายเพียงอย่างเดียว แต่ภายในเลือดของเขาเองยังประกอบด้วยแอนติบอดี้หายากชนิดหนึ่ง
ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 60 ทางทีมแพทย์ได้นำเลือดของเขาไปทำการวิจัยจนกระทั่งสามารถพัฒนาวัคซีนที่เรียกว่า Anti-D ได้สำเร็จ
ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้หญิงที่แท้งลูกจำนวนมากหรือเกิดมาพร้อมกับปัญหาทางสมอง โดยสาเหตุเกิดจากโรคที่ชื่อว่า รีซัส ดีซิส (Rhesus Disease) โรคที่เกิดจากกลุ่มเลือด Rh ไม่เข้ากัน จนส่งผลให้เลือดของแม่ทำลายเซลเม็ดเลือดของลูก ที่ได้รับสืบทอดมาจากพ่อที่มี Rh ที่แตกต่างกัน
ซึ่งตัววัคซีน Anti-D นี้เอง ที่เป็นคำตอบของการรักษาโรคที่แสนน่ากลัวนี้
เจมส์กล่าวว่า “ผมจะบริจาคเลือดต่อไป ถ้าพวกเขาให้ผมทำ” ซึ่งตอนนี้อายุของเจมส์ได้มาถึงจุดที่ไม่สามารถบริจาคเลือดต่อไปได้แล้ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพของเขานั่นเอง
นี่คือภาพของเจมส์ แฮร์ริสัน กับการบริจาคเลือดครั้งสุดท้ายของเขา พร้อมกับแม่และลูกน้อยที่ได้รับการช่วยเหลือจากวัคซีน Anti-D
และนี่คือเรื่องราวของ เจมส์ แฮร์ริสัน ชายที่ได้รับฉายาว่า “มือทองคำ” ผู้ที่เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ และในวันนี้เขาก็สามารถทำตามคำปฏิญาณที่เขาเคยให้ไว้กับตัวเองว่า จะบริจาคเลือดไปตลอดชีวิตจนกว่าจะหมดลมหายใจ ขอปรบมือให้กับจิตใจอันงดงามของชายผู้นี้จริงๆ
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา