การลงเหยียบบนดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน ในปี 1969 จากภารกิจอะพอลโล 11 ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การร่วมมือร่วมใจของพนักงานนาซ่าและคนงานในแผนกต่าง ๆ กว่า 400,000 คน แต่มีชายเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เผยแพร่ความคิดว่า ทั้งหมดนี้คือเรื่องหลอกลวง ชื่อของเขาคือ บิล เคย์ซิง
เรื่องนี้เริ่มต้นมาจาก “ลางสังหรณ์และสัญชาตญาณ” ก่อนจะกลายเป็น “ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า” ว่าสหรัฐอเมริกายังขาดความสามารถทางเทคโนโลยีที่จะก้าวไปเหยียบบนดวงจันทร์
จริง ๆ แล้ว บิลมีส่วนสนับสนุนโครงการอวกาศของอเมริกา แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ในระหว่างปี 1956 ถึง 1963 เขาเป็นพนักงานของ Rocketdyne บริษัทออกแบบเครื่องยนต์จรวด Saturn V และเริ่มตั้งคำถามกับการไปลงจอดบนดวงจันทร์ของอเมริกานับตั้งแต่นั้นว่า เหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นเรื่องหลอกลวง
ในปี 1976 หลังการลงเหยียบดวงจันทร์ 7 ปี เขาได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า We Never Went to the Moon: American’s Thirty Billion Dollar Swindle หรือแปลเป็นไทยว่า “เราไม่เคยไปดวงจันทร์: กรณีฉ้อโกงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ของอเมริกา”
หนังสือดังกล่าวเป็นการพูดถึงหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อของเขาพร้อมกับภาพประกอบที่ไม่มีความชัดเจนและทฤษฎีที่ไร้สาระ แต่สิ่งที่เขาได้เริ่มเอาไว้ได้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต่อยอดออกมาจนถึงทุกวันนี้ จนมีทั้งการถูกนำมาอ้างอิงในสารคดี ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือกระทู้บนโลกออนไลน์
ภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ Diamonds Are Forever ในปี 1971 ในฉากที่ ฌอน คอนเนอรี บุกเข้าไปในโรงงานของนาซ่า และพบว่ามันมีลักษณะคล้ายกับกองถ่ายฉากบนดวงจันทร์
นอกจากนั้น ความเชื่อดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนไม่เว้นแม้คนที่มีการศึกษาสูง ตัวอย่างอย่าง ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยารายหนึ่งจากนิวเจอร์ซีย์ถูกเปิดเผยว่า เขาบอกนักเรียนของเขาว่าการลงจอดบนดวงจันทร์เป็นของปลอม
ในขณะที่บน Reddit เองก็มีการตั้งกลุ่ม moonhoax เพื่อมาแชร์ข้อมูลกันว่านาซ่าโกหกชาวโลกเกี่ยวกับการลงจอดบนดวงจันทร์อย่างไร
“ความจริงก็คือ อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถพูดอะไรก็ตามที่พวกเขาชอบกับผู้คนประเภทเดียวกัน” โรเจอร์ ลอเนียส อดีตหัวหน้านักประวัติศาสตร์ของนาซ่ากล่าว “คนอเมริกันชอบทฤษฎีสมคบคิด ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น บางคนจะมีคำอธิบายที่สวนทางอยู่เสมอ”
ปรากฎว่าไม่ใช่แค่ชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ผลสำรวจของ YouGov พบว่า 1 ใน 6 ของคนอังกฤษเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “การลงจอดบนดวงจันทร์เป็นเรื่องจัดฉาก”
มีคนอังกฤษ 4% ที่มั่นใจว่าทฤษฎีนี้เป็นเรื่อง “จริงแน่นอน” อีก 12% เชื่อว่า “อาจจะจริง” อีก 9% บอกว่า “ไม่รู้” ในขณะที่ทฤษฎีสมคบคิดนี้แพร่หลายในคนรุ่นใหม่มากขึ้น
การตั้งคำถามของ บิล เคย์ซิง เป็นสิ่งที่จุดประกายความสงสัยให้กับประชาชนมาตั้งแต่ 5 ทศวรรษก่อน ข้อแรกคือไม่มีดวงดาวปรากฎในภาพ ข้อสองคือไม่มีร่องรอยเศษฝุ่นที่กระจายเป็นปล่องบนพื้นในขณะที่ยานลงจอด และสุดท้ายคือทิศทางเงาที่พาดผ่านลงมา
บิลยืนยันเรื่องนี้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 2005 โดยบอกว่านาซ่าถ่ายทำเหตุการณ์ทั้งหมดในสตูดิโอโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่า สเปเชียลเอฟเฟกต์ของฮอลลีวูดสามารถทำอะไรได้บ้างในขณะนั้น
“อย่างที่ทราบกันดีว่า นาซ่ามีสถิติการจัดการที่ย่ำแย่และการควบคุมคุณภาพที่ไม่ดี” บิลกล่าวกับ Wired ในปี 1994
“แต่ในปี 1969 จู่ ๆ เราก็สามารถพาเที่ยวบินที่มีคนควบคุมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีอย่างงั้นหรือ มันขัดกับข้อมูลสถิติที่ผ่านมาทั้งหมด”
จริง ๆ แล้ว บิลพูดถูกในเรื่องนี้ เมื่อโซเวียตส่งสปุตนิก 1 ขึ้นไปในอวกาศในตุลาคม 1957 ตามด้วยสปุตนิก 2 ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ที่มีผู้โดยสารเป็นสุนัขไลก้า ในช่วงเวลาดังกล่าวอเมริกายังไม่มีโครงการอวกาศด้วยซ้ำไป
นาซ่าถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1958 และส่ง อลัน เชฟเพิร์ดไปในอวกาศเดือนพฤษภาคม 1961 แต่เมื่อ จอห์น เอฟ เคนเนดี ประกาศว่า อเมริกาจะต้องไปเหยียบดวงจันทร์ก่อนสิ้นสุดทศวรรษนี้ และอเมริกาก็ทำได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 60 รัฐบาลกลางสหรัฐใช้งบประมาณของประเทศมากถึง 4% แต่โซเวียตก็ทำภารกิจสำเร็จก่อนหลายครั้ง เช่น ผู้หญิงคนแรกในอวกาศ (1963), กิจกรรมนอกยาน เช่นการเดินในอวกาศ (1965) ซึ่งอเมริกาประสบแต่ความพ่ายแพ้ รวมถึงภารกิจอะพอลโล 1 ที่จบลงด้วยการสูญเสียนักบินอวกาศไปถึง 3 คนในเปลวเพลิง
ในขณะที่สื่อมวลชนต่างเป็นกระบอกเสียงให้กับทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ให้กระจายไปไกลมากยิ่งขึ้น ในปี 1988 หนังสือพิมพ์ Sunday Sport พาดหัวข่าวใหญ่ว่ามีการพบเครื่องบินทิ้งระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บนดวงจันทร์ หรือในปี 2001 ทาง Fox News ได้จัดทำสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าสารคดีที่ชื่อว่า “เราไปเหยียบบนดวงจันทร์จริงหรือไม่?” ที่ทำให้เกิดเป็นกระแสถาโถมมาหานาซ่ามากมาย
โรเจอร์ ลอเนียส ที่ทำงานอยู่นาซ่าในขณะนั้นเล่าว่า หลังสารคดีถูกออกอากาศ นาซ่าก็ได้รับคำถามมากมายแทบทุกประเภทเกี่ยวกับการลงจอดบนดวงจันทร์ และโดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มาจากนักทฤษฎีสมคบคิด แต่มาจากผู้ปกครองและครู พวกเขาต่างสงสัยว่า “ลูกของฉันเพิ่งดูสารคดีนี้ เราจะตอบพวกเขาอย่างไร” และนั่นทำให้นาซ่าต้องจัดทำหน้าเว็บไซต์และส่งเอกสารบางอย่างไปให้กับครูและผู้ปกครองเหล่านี้อีกด้วย
ปัจจุบัน ทฤษฎีสมคบคิดว่าการเหยียบดวงจันทร์เป็นเรื่องหลอกลวงก็ยังมีคนเชื่ออยู่ดี ถึงแม้ว่านาซ่าจะมีคำตอบให้กับทุกคำถามแล้วก็ตาม หรือจะเป็นหินดวงจันทร์ที่หนักกว่า 382 กิโลกรัม ที่ถูกรวบรวมมาจาก 6 ภารกิจ ภาพถ่ายรอยเท้านักบินอวกาศบนดวงจันทร์จากยานอวกาศ Nasa Lunar Reconnaissance Orbiter ที่โคจรรอบดวงจันทร์ ก็ไม่มีความหมาย
หรือแม้แต่การยืนยันจากรัสเซีย ญี่ปุ่น และจีน ก็ไม่อาจทำให้พวกเขาเชื่อได้เช่นกัน เพราะทฤษฎีสมคบคิดของบิล เคย์ซิง ได้เบ่งบานอยู่ในใจนักทฤษฎีสมคบคิดไปเรียบร้อยแล้ว
ที่มา: theguardian