อาวุธนิวเคลียร์สามารถหยุดดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งใส่โลกเราได้หรือไม่

ในขณะที่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเรากำลังโคจรอยู่ในอวกาศ เราก็ไม่อาจทราบชะตากรรมได้ว่า ดาวเคราะห์น้อยนับล้านที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศจะพุ่งเข้ามาชนโลกของเราวันไหนกันแน่ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้จะสลายหายไปก่อนที่จะตกลงสู่พื้นผิวโลก แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ใหญ่พอจะสร้างความเสียหายให้กับโลกเราอย่างคาดไม่ถึง และถ้าวันนั้นมาถึง เราจะมีวิธีป้องกันโลกของเราใบนี้อย่างไร

แน่นอนว่าองค์การนาซ่าได้ตระหนักถึงภัยคุกคามนี้และได้เปิดตัว โครงการเบนวิถีโคจรดาวเคราะห์น้อยคู่ หรือ Double Asteroid Redirection Test (DART) โดยมีภารกิจหลักคือการทดลองเทคโนโลยีที่จะใช้ในการปกป้องโลก

โครงการ DART ได้มีการศึกษาและวางแผนที่จะส่งยานอวกาศ DART ออกไปเพื่อพุ่งชนดวงจันทร์ดีมอร์ฟอส (Dimorphos) ที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส (Didymos) เพื่อให้มันเปลี่ยนเส้นทางวงโคจรใหม่ ทั้งหมดนี่เป็นการทดสอบเพื่อจำลองว่า การส่งยานอวกาศออกไปเปลี่ยนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

แต่จากการศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ ที่นำโดย แพทริก คิง ได้ชี้ให้เห็นว่าหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน การส่งยานอวกาศออกไปอาจไม่ทันการ ดังนั้นการใช้อาวุธนิวเคลียร์อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

วิธีนี้มีประสิทธิภาพสูงและสามารถขัดขวางดาวเคราะห์น้อยได้ โดยชิ้นส่วนเกือบ 99% ของมันจะสลายหายไปก่อนที่จะตกลงสู่พื้นโลก

แพทริก คิง กล่าวว่า “เราต้องคำนึงถึงกระบวนการทั้งหมดทั้งการสร้างยาน และการปล่อยยานอวกาศในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ทุกวงโคจรที่เราจะสามารถปล่อยยานออกไปตามวันที่กำหนดได้ ดังนั้นโครงการนี้จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะประสบความสำเร็จ”

ทางทีมวิจัยได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษที่ชื่อว่า Spheral ในการศึกษาพฤติกรรมและเส้นทางของดาวเคราะห์น้อยที่กระจัดกระจายหลังปะทะกับอาวุธนิวเคลียร์

Spheral จะศึกษาความเป็นไปได้ของชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยที่กระจัดกระจายสู่วงโคจรใหม่อีกด้วย

แพทริกกล่าวว่า การเปลี่ยนวงโคจรดาวเคราะห์น้อยอาจมีความสำคัญ แต่เราก็สามารถทำลายพวกมันให้สลายหายไปก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้เช่นกัน

ที่มา : news18nasa | เรียบเรียงโดย เพชรมายา