นักวิทย์ใช้เทคนิควิเคราะห์ภาพถ่าย เผยสีขาวดำของแพนด้ามีเอาไว้ทำอะไร

ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาลและสีเทา แต่ก็มีสัตว์บางชนิดที่เป็นข้อยกเว้น เช่น ม้าลาย สกังก์ ออร์กา และสัตว์ลายขาวดำที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือหมีแพนด้า แต่คุณรู้หรือไม่ว่าสีขาวดำของแพนด้ามีไว้ทำไม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล, มหาวิทยาลัยยูแวสกูแล และสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ได้ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ภาพถ่ายโดยแสดงให้เห็นว่า สีขาวดำที่เป็นเอกลักษณ์ช่วยอำพรางหมีแพนด้าที่อาศัยตามธรรมชาติได้

ผลงานวิจัยนี้ได้ถูกเปิดเผยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยพวกเขาได้วิเคราะห์ภาพถ่ายของแพนด้าที่อยู่ในธรรมชาติ และค้นพบว่าขนสีดำของมันกลมกลืนกับเฉดสีเข้มและลำต้นของต้นไม้ ในขณะที่ขนสีขาวกลมกลืนไปกับใบไม้รวมถึงเวลาที่หิมะตก

ไม่ว่าเราจะมองด้วยสายตาของมนุษย์ หรือทดสอบด้วยการจำลองการมองเห็นของสัตว์สายพันธุ์แมวและสุนัข โดยทั้ง 2 ชนิดหลังถือเป็นมุมมองของสัตว์นักล่า โดยผลลัพธ์ที่ออกมาก็มีความสอดคล้องกัน

ต่อมาพวกเขาพบว่าการพรางตัวของแพนด้าเป็นรูปแบบของการใช้สีให้สับสน (Disruptive Coloration) ที่เป็นการพรางตัวโดยลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นลายริ้ว ลายแถบ หรือลายจุด โดยเฉพาะเวลาอยู่ภายใต้แสงและเงามืด หรือแม้แต่การอยู่รวมกันเป็นฝูงก็ตาม สำหรับแพนด้า คุณจะมองเห็นมันภายในป่ายากขึ้นเมื่ออยู่ในระยะไกล

สุดท้ายพวกเขาเทคนิคการจับคู่สีเพื่อตรวจสอบความคล้ายคลึงระหว่างพื้นผิวของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ กับพื้นหลังของภาพถ่าย และผลการวิเคราะห์ได้ยืนยันว่าแพนด้าเป็นสัตว์ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ไม่แพ้สัตว์ที่พรางตัวเก่งชนิดอื่น

ศาสตราจารย์ ทิม คาโร หนึ่งในทีมวิจัยอธิบายว่า “ตอนที่เพื่อนร่วมงานชาวจีนของเราส่งรูปถ่ายจากป่ามาให้ ผมมองไม่เห็นแพนด้าในภาพด้วยซ้ำ ถ้าผมมองไม่เห็นด้วยสายตาที่ดีของมนุษย์ นั่นหมายความว่าสัตว์นักล่าที่สายตาไม่ดีเท่า ก็ไม่สามารถมองเห็นได้เช่นกัน”

จริง ๆ สีของแพนด้าเป็นที่สงสัยของนักวิทยาศาสตร์มานานหลายทศวรรษแล้วว่าทำไมมันถึงเป็นสีขาวดำ ในขณะที่หลายคนต่างเชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับการพรางตัวภายในพื้นที่ป่าและหิมะ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ทางพฤติกรรมของมันเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพถ่ายล่าสุดนี้ จะช่วยยืนยันสมมุติฐานที่เคยมีมาให้เป็นจริงยิ่งขึ้น ว่าสีขาวดำของแพนด้าเกี่ยวข้องกับการพรางตัวในธรรมชาติจริง ๆ

ที่มา : scitechdaily | เรียบเรียงโดย เพชรมายา