ตารางธาตุสุดน่ารักนี้ จะทำให้คนเกลียดวิทยาศาสตร์เข้าใจธาตุต่างๆ มากขึ้น

ถ้าพูดถึงเรื่องของ “ธาตุ” ต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว หลายคนที่เรียนมาทางสายศิลป์หรือสายอาชีพคงต้องกุมขมับกับเรื่องพวกนี้อย่างแน่นอน (รวมถึงผมด้วย) และถ้าเปิดตารางธาตุให้พวกเราดูล่ะ …. นี่คือตารางธาตุแบบปกติ ที่เห็นแล้วต้องปวดหัวตุ้บๆ

แน่นอนว่ามันไม่มีอะไรดีขึ้น ยกเว้นแต่ธารางธาตุนั้นจะมีความน่าสนใจกว่าตารางธาตุทั่วไป เหมือนกับผลงานของชายคนนี้

คีธ อีเนโวลด์เซน วิศวกรซอฟต์แวร์จากบริษัทเครื่องบินโบอิ้ง ตัดสินใจที่จะสร้างตารางธาตุแบบใหม่ที่จะช่วยสอนนักเรียนให้เข้าใจตัวตนของธาตุต่างๆ ให้ง่ายขึ้น เขาใช้ภาพการ์ตูนที่ทำให้เราเห็นว่า ธาตุเหล่านี้สามารถถูกใช้ไปทำอะไร หรือถูกพบได้ที่ไหนบ้างในธรรมชาติ

จากภาพด้านบนเราจะเห็นว่า โพแทสเซียม (Potassium) ถูกพบได้ในพักและผลไม้, แคลเซียม (Calcium) มีอยู่ในเปลือกหอย, สแกนเดียม (Scandium) ถูกใช้มาทำโครงจักรยาน, รูบิเดียม (Rubidium) ถูกใช้ไปกับระบบนำทางดาวเทียม, สตรอนเทียม (Strontium) เป็นส่วนประกอบของพลุไฟ และ อิตเทรียม (Yttrium) เป็นส่วนประกอบในการทำเลเซอร์

จริงๆ แล้วนอกจากภาพการ์ตูนตรงกลางแล้ว ยังมีรายละเอียดยิบย่อยในกรอบอีกพอสมควร ผมจึงขอแปลเป็นภาษาไทยใส่ให้ (จากต้นฉบับภาษาอังกฤษ) นะครับ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

แล้วอย่าคิดว่าสีพื้นหลังของตารางธาตุนี้จะใส่ให้ตัดกันสวยๆ เพราะมันยังบ่งบอกความเป็นโลหะและไม่เป็นโลหะอีกด้วย

ในส่วนของโลหะ (Metals) ประเภทต่างๆ จะมีรายละเอียดเยอะมากนะครับ มันอาจลึกเกินไปจึงไม่ได้ใส่รายละเอียดของโลหะแต่ละชนิดเอาไว้ แต่สำหรับใครที่เรียนมาทางสายเคมี น่าจะเข้าใจประเภทของโลหะเหล่านี้ดี

ถ้าพอเข้าใจเรื่องสี เรื่องสัญลักษณ์กันแล้ว เรามาลองดูธาตุอื่นๆ กันต่อครับ ซึ่ง 6 ธาตุต่อไปนี้ เราจะเห็นว่ามีพื้นหลังสีเหลืองและส้ม ซึ่งไม่ใช่โลหะ

ไนโตรเจน (Nitrogen) เป็นส่วนประกอบของโปรตีน, ออกซิเจน (Oxygen) อยู่ในอากาศ, ฟลูออไรน์ (Fluorine) อยู่ในยาสีฟัน, ฟอสโฟรัส (Phosphorus) มีอยู่ในกระดูก, ซัลเฟอร์ (Sulfur) มีอยู่ในไข่แดง และ คลอรีน (Chlorine) ที่เราพบได้ในสระว่ายน้ำทั่วไป

ธาตุชุดต่อไป เราจะเห็นว่าเป็นซึ่งทั้งหมดเป็นโลหะทรานซิชัน (Transition Metals) ซึ่งเป็นโลหะที่นำไฟฟ้าได้ดี (เงินดีที่สุด รองลงมาคือทอง) นำความร้อนได้ดี และส่วนที่มีมงกุฏจะไม่กัดกร่อน

แพลเลเดียม (Palladium) ใช้ในเครื่องฟอกไอเสีย, เงิน (Silver) ใช้ทำอัญมณี, แคดเมียม (Cadmium) ส่วนประกอบของสี, แพลทินัม (Platinum) ใช้ทำอุปกรณ์ในห้องทดลอง, ทอง (Gold) ใช้ทำอัญมณี และ ปรอท (Mercury) เป็นของเหลวใช้ทำเธอร์โมมิเตอร์

ธาตุชุดนี้จะมีความเป็นโลหะสูงขึ้น และบางธาตุยังเป็นธาตุกัมมันตรังสีอีกด้วย

ยูโรเพียม (Europium) ใช้ทำสีใช้โทรทัศน์สี, แกโดลิเนียม (Gadolinium) ใช้ในการวินิจฉัยโรคด้วย MRI, เทอร์เบียม (Terbium) พบได้ในหลอดฟลูออเรสเซนต์, อะเมริเซียม (Americium) ใช้ในเครื่องวิเคราะห์แร่ และ เบอร์คีเลียม (Berkelium) เป็นขยะกัมมันตรังสี

และนี่คือธาตุชุดสุดท้ายที่เอามาให้ชมกัน

เซอร์โคเนียม (Zirconium) ทำโลหะผสมที่ทนต่อการกัดกร่อน เช่นท่อน้ำ, ไนโอเบียม (Niobium) ใช้ในรถไฟแม็กเลฟ, โมลิบดีนัม (Molybdenum) เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือตัด, แฮฟเนียม (Hafnium) ใช้เป็นแท่งควบคุมในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเรือดำน้ำนิวเคลียร์, แทนทาลัม (Tantalum) ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทอรนิกส์และมือถือ และ ทังสเตน (Tungsten) ใช้ทำเป็นไส้หลอดไฟฟ้า

จริงๆ แล้วตารางธาตุยังมีมากกว่านี้ และหลายๆ ธาตุยังต้องมีคำอธิบายประกอบเพื่อให้เข้าใจถึงการใช้ประโยชน์ของแต่ละธาตุมากขึ้นอีก แต่สำหรับบทความนี้ก็เหมาะสำหรับผู้ที่เคยปวดหัวกับตารางธาตุแบบเดิมๆ เพื่อทำให้เข้าใจเรื่องธาตุได้ง่ายขึ้น และถ้ามันถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนจริง ก็อาจทำให้เด็กๆ สนใจที่จะเรียนวิชาเคมีมากขึ้นกว่าตอนนี้ก็เป็นได้

ที่มา : | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ