ผลกระทบทางจิตวิทยาเหล่านี้ มีอิทธิพลกับคุณโดยไม่รู้ตัวมาก่อน

คุณเคยนั่งวิเคราะห์พฤติกรรมของตัวเองหรือคนอื่นหรือไม่ ว่าทำไมถึงทำแบบนั้น ทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้ พฤติกรรมของบางคนเปลี่ยนไป อาจเปลี่ยนไปในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของจิตวิทยาล้วน ๆ วันนี้เพชรมายาจึงขอพาทุกคนมาชมผลกระทบทางจิตวิทยาในรูปแบบต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีอิทธิพลกับคุณอยู่ ณ ตอนนี้ มาลองดูกันว่าคุณเคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นข้อไหนอยู่บ้าง

1. คนแปลกหน้า มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคุณ

หนึ่งในทฤษฎีไซแอนซ์ (Zajonc Theory) กล่าวถึงพฤติกรรมของมนุษย์เวลาที่มีคนอื่นเฝ้ามองอยู่ เช่น สาว ๆ สามารถเดินใส่เสื้อยืดเก่า ๆ ขาด ๆ อยู่ที่บ้านได้ แต่พวกเธอจะทำตัวอีกอย่างหนึ่งเวลาออกสู่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของบุคคลไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวพวกเขาเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจำนวนของผู้เฝ้ามอง (อย่างไม่ได้ตั้งใจ) ในตอนนั้น ๆ อีกด้วย เช่น ผู้ชายที่นั่งบนรถเมล์จะลุกให้คนชรานั่ง เพื่อทำให้ผู้หญิงที่อยู่ตรงนั้นประทับใจในตัวเขา

2. คนที่สนใจในการทดลอง ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ต่างไป

นี่คือทฤษฎีที่เป็นผลมาจาก ฮอว์โธรน เอฟเฟกต์ (Hawthorne Effect) กล่าวคือ ในสภาวะแวดล้อมที่คุณมีความสนใจทดสอบหรือทดลองอะไรบางอย่าง จะทำให้คุณมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คุณจะกระตือรือร้นมากขึ้น เห็นดีเห็นงามมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์การทดลองนั้น ๆ จะผิดเพี้ยนไป สาเหตุหลัก ๆ คือการที่เรา “รู้ตัว” ว่ามีคนสังเกตการณ์อยู่

ตัวอย่างเช่น คุณได้รับคำเชิญให้ชิมขนมออกใหม่และกรอกแบบสอบถาม คุณอาจให้คะแนนในขณะอยู่ที่ร้านสูงและเมื่อกลับบ้านมาลองชิมอีกครั้ง คุณถึงได้รู้ว่ามันไม่ได้มีอะไรพิเศษเลย

3. คนจะจำงานที่ยังไม่เสร็จ ได้ดีกว่างานที่เสร็จแล้ว

นี่คือทฤษฎีที่เรียกว่า ซีการ์นิก เอฟเฟกต์ (Zeigarnik Effect) ที่ระบุว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะจดจำสิ่งต่าง ๆ หรือการกระทำที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยได้ดีกว่าสิ่งที่เรากระทำเสร็จไปแล้ว ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พนักงานเสิร์ฟจะสามารถจดจำออร์เดอร์ของคุณได้ จนกระทั่งเขาเอาอาหารมาเสิร์ฟให้คุณแล้ว และหลังจากนั้นเขาจะมุ่งไปให้ความสนใจลูกค้าคนอื่นต่อ

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างก็คือ หากคุณกำลังขายชุดแต่งงานให้กับผู้หญิงที่เลือกซื้อชุดแต่งงานเอาไว้ที่อื่นแล้ว พวกเธอจะไม่จำชุดแต่งงานที่คุณเสนอให้อีก

4. คนจะซื้อของแพง เพราะมันแพง

ตามปกติแล้ว กลไกการตลาดมักเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทาน อธิบายง่าย ๆ ก็คือ หากสินค้าแพง คนจะซื้อน้อยลง แต่หากสินค้าถูก คนก็จะซื้อมากขึ้น

แต่สำหรับสินค้าประเภท Veblen Goods จะไม่ได้เป็นไปตามกลไกนี้ เพราะหากสินค้าราคาแพง คนจะยิ่งซื้อ เพื่อวัตถุประสงค์ในการแสดงฐานะ เช่น เด็ก ๆ ยุคใหม่ในโลกโซเชียล ก็อยากใช้ของราคาแพงเพื่อแสดงสถานะทางสังคม และผู้คนเหล่านี้จะไม่ซื้อของลดราคา ไม่มีแบรนด์เด็ดขาด

5. คนมักจะชอบคนอื่นที่ทำผิดพลาด

นี่คือทฤษฎี Pratfall Effect ที่ระบุว่า ผู้คนที่ทำผิดพลาดและดูโก๊ะ ๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างความดึงดูดใจให้เรามากขึ้น ความสมบูรณ์แบบจะเป็นกำแพง รวมถึงสร้างระยะห่างระหว่างกันและกัน หรือแม้แต่ทำให้คนอื่นหมั่นไส้ได้

ตัวอย่างเช่น ผู้ชายหลายคนชอบผู้หญิงที่ซุ่มซ่าม ดูโก๊ะ ๆ หลุด ๆ เพราะพวกเธอดูเข้าถึงได้ง่ายกว่าผู้หญิงที่สวยเนี๊ยบดูนิ่ง ผู้ชายจะรู้สึกว่าพวกเธอเข้าถึงได้ยาก

6. คนเราชอบตีค่าตัวเองสูงไป ว่าคนอื่นกำลังสนใจอยู่

ตรงตามชื่อทฤษฎี สปอตไลท์ เอฟเฟกต์ (Spotlight Effect) คือความรู้สึกที่คุณคิดว่า ตัวเองกำลังถูกมองจากผู้คนรอบข้างเพื่อสังเกตความผิดปกติของคุณอยู่ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีผู้หญิงลืมทามาสคารามาข้างหนึ่ง เธอจะคิดว่าทุกคนรอบตัวเธอจะสังเกตเห็นและหัวเราะเยาะเธอแน่นอน

ทีมนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ได้ทำการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่สวมเสื้อยืดที่มีข้อความเห่ย ๆ และก็ลองนับจำนวนผู้คนที่สังเกตเห็นดู ปรากฏว่านักจิตวิทยานับจำนวนคนเกินไปถึง 2 เท่า ของคนที่สังเกตเห็นลายเสื้อยืดนี้จริง ๆ นั่นแสดงว่า จริง ๆ แล้วเรามักคิดมากไปเองว่าจะมีคนจ้องมองความผิดพลาดบนตัวเราอยู่

7. มีคนมากมายรอบตัวคุณ แต่มีแค่น้อยคนที่จะช่วยคุณในยามที่คุณต้องการ

นี่คือทฤษฎีจาก บายสแตนเดอร์ เอฟเฟกต์ (Bystander Effect) กล่าวคือ ผู้คนที่อยู่รอบตัวเรานั้นมีมากมาย แต่มีน้อยคนนักที่จะกล้าเข้าไปให้ความช่วยเหลือก่อนเป็นคนแรก เพราะแต่ละคนต่างก็คิดว่า จะมีคนอื่นเข้าไปช่วย แต่จริง ๆ แล้วปรากฏว่าไม่มีสักคน

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ

ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา