รามกันด์มูล ขนมจากพืชลึกลับที่นักวิทย์งุนงงมาหลายสิบปีว่ามันคือต้นอะไร

ในประเทศอินเดียมีขนมที่วางขายแบบสตรีทฟูดอยู่มากมาย แต่หนึ่งในขนมที่แปลกประหลาดและชวนสะดุดตาที่สุดนั่นก็คือ “รามกันด์มูล” ที่ถูกขายตามท้องถนนในประเทศอินเดียมานานหลายทศวรรษ แต่มันกลับเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่มีใครทราบว่ามันมาจากต้นอะไร

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1980 นักพฤกศาสตร์ชาวอินเดียเริ่มให้ความสนใจกับรามกันด์มูล เนื่องจากมันเป็นขนมที่ถูกเฉือนออกมาเป็นแผ่นบางๆ จากแท่งที่คล้ายกับลำต้นสีส้มขนาดใหญ่ หลังจากพยายามตามหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของมัน พวกเขาก็ต้องล้มเหลวเนื่องจากไม่มีใครเต็มใจจะเปิดเผยที่มาของมันแม้แต่คนเดียว

พ่อค้าที่ขายรามกันด์มูลต่างให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน บางคนอ้างว่าเป็นหัว ราก หรือไม่ก็ลำต้นของพืช ในขณะที่พ่อค้าส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ บางคนก็อ้างไปว่าซื้อต่อมาจากพ่อค้าคนกลางโดยไม่ทราบแห่งที่มาจริง ๆ ของมัน และนั่นทำให้ไม่มีใครรู้ว่าที่มาของมันคือต้นอะไร หรือผ่านกระบวนการผลิตมาจากโรงงานไหนกันแน่

“คุณจะถามอะไรก็ได้ ยกเว้นเรื่องนี้ได้โปรด จะไม่มีใครบอกอะไรคุณ เพราะมันคือความลับทางธุรกิจ” พ่อค้ารายหนึ่งกล่าว

รามกันด์มูลมักถูกโฆษณาว่ามีบทบาทสำคัญในวรรณคดีรามายณะ เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารเดียวของพระรามตอนที่เขาถูกเนรเทศไปยังป่าพร้อมกับนางสีดาและพระลักษณ์ แถมพ่อค้ายังอ้างอีกว่ามันสามารถลดอุณหภูมิในร่างกายของคุณได้ในช่วงฤดูร้อน อีกทั้งยังช่วยดับความหิวกระหาย และยังมีมีสรรพคุณเป็นยาครอบจักรวาลอีกด้วย

โดยปกติแล้ว รามกันด์มูลจะถูกเสิร์ฟพร้อมเครื่องปรุงได้ทุกประเภทตั้งแต่ เกลือ พริก มะนาว และน้ำตาล โดยมันจะถูกหั่นออกมาบาง ๆ จากหัวหรือลำต้นของมันที่ชั่งน้ำหนักได้ถึง 300 กิโลกรัม

เมื่อรามกันด์มูลถูกนำเสนอผ่านสื่อก็ทำให้มีผู้สนใจอยากรู้ที่มาของมันมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งในปี 1994 ดร.คอปปูลา เฮมาดรี นักพฤกศาสตร์ได้เริ่มออกเดินทางไปทั่วอินเดียเพื่อขุดรากพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อพยายามไขปริศนานี้ การค้นคว้าของเขาสรุปออกมาว่ามันคือพืชสกุล “อากาเว” (Agave) แต่ตัวเขาเองก็ยอมรับว่ามันอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

ในช่วงเวลาเดียวกัน ดร.อาลี มูลาลี นักพฤกศาสตร์อีกคนเลือกที่จะใช้วิธีที่ประหยัดเวลากว่า เขาพยายามจ่ายเงินให้กับพ่อค้ารามกันด์มูลราว 1,000 ถึง 2,000 รูปี หรือประมาณ 450 ถึง 900 บาท เพื่อให้เปิดเผยที่มาของขนมชนิดนี้

หลังจากพ่อค้าลังเลใจอยู่พักหนึ่ง เขาก็บอกว่ามันทำมาจาก Kitta Nara ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกเส้นใยของพืชสกุลอากาเว ที่น่าสนใจก็คือ เขาเสริมว่ามันไม่ใช่ราก แต่เป็นบางสิ่งที่เติบโตเหนือพื้นดิน

ในปี 2010 ทีมนักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจทำการทดสอบ DNA ของมันและก็พบว่ามันมี DNA ที่ตรงกับอากาเวถึง 89 เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนว่ามาถึงตอนนี้หลักฐานทุกอย่างจะชี้ไปที่อากาเว และนั่นเป็นเหตุผลที่พ่อค้าต้องฝานมันเป็นชิ้นบาง ๆ เนื่องจากในอากาเวมีสารแอลคาลอยด์จำนวนมาก และจะเป็นพิษต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป

ต่อมาในปี 2011 มีการระบุสายพันธุ์ของอกาเวให้แคบลงไปอีกว่ามันคือ Agave Sisalana ซึ่งเป็นหนึ่งในหลากหลายสายพันธุ์ของอากาเว เมื่อทำการตัดใบออกก็จะเหลือเพียงแค่ลำต้นขนาดใหญ่คล้ายกับที่พ่อค้านำมาขายตามท้องถนน แต่นั่นยังไม่ใช่บทสรุปของเรื่องนี้

เนื่องจากอากาเวมีหลายสายพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงกันไม่จบว่ามันคือสายพันธุ์ไหนกันแน่ อาจจเป็น Agave Sisalana หรือ Agave Americana หรืออาจเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศก็เป็นได้

“เราไม่สามารถสรุปได้จนกว่าผู้ขายจะนำพืชมาให้เราดู พวกเขาเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับทางธุรกิจเพื่อสร้างความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้” หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

แต่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ดร.เชนนา ซางกาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโภชนาการและเทคโนโลยีจากเบงกาลูรู ที่ศึกษาต้นอากาเวมาอย่างมากมายมั่นใจว่า รามกันด์มูลไม่ได้ทำมาจากอากาเว เขาอ้างว่าอกาเวจะมีความหวาน ฝาด มีเส้นใย และกัดยาก ในขณะที่รามกันด์มูลจะให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล กัดง่าย และไม่หวานมาก ซึ่งมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

และถ้าคุณลองหาจากวิกิพีเดียจะพบคำอธิบายว่า รามกันด์มูลถูกทำมาจากรากของต้น Maerua oblongifolia ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยชนิดหนึ่ง โดยระบุว่า “รากถูกนำไปที่ร้านค้าอย่างเป็นความลับ โดยที่มาของมันก็จะถูกเก็บไว้เป็นความลับเช่นกัน” นอกจากนั้นวิกิพีเดียเองก็ไม่มีรูปต้นไม้ต้นนี้ให้ดูอีกด้วย

ในขณะที่มีผู้คนมากมายพยายามจะไขปริศนาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของรามกันด์มูล แต่ก็ยังไม่มีใครหาคำตอบที่แท้จริงได้ การไปถามคนขายตรง ๆ คุณอาจโดนหงุดหงุดใส่ บางคนก็ไม่ทราบที่มาของมันจริง ๆ การใช้เงินแก้ปัญหาก็มีโอกาสที่คุณจะได้คำโกหกกลับมาเช่นกัน

ที่มา : odditycentral | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ