นักวิทย์เตรียมส่งสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเดินทางข้ามดวงดาว

ในขณะที่มนุษย์หลายคนใฝ่ฝันว่าอยากขึ้นไปบนอวกาศ เดินทางข้ามดวงดาวไปยังสุดขอบระบบสุริยะ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยสำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์ ณ ปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าและสร้างยานสำรวจที่สามารถข้ามดวงดาวได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปีแทนที่จะเป็นหลายพันปี นอกจากนั้นพวกเขายังต้องการผู้โดยสารที่จะเดินทางไปกับยานลำนั้นด้วย

แต่ทว่า ยานสำรวจดังกล่าวถูกคาดว่าจะมีน้ำหนักไม่เกิน 1 กรัม และจะถูกเร่งด้วยเลเซอร์อันทรงพลังที่สามารถทำความเร็วได้ถึง 1 ใน 5 ของความเร็วแสง มันถูกออกแบบมาโดยไม่ได้คำนึงถึงผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปถึง ‘พร็อกซิมา เซนทอรี’ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ใกล้โลกมากที่สุด และเป็นความหวังของนักวิทยาศาสตร์ว่ามันอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 25 ปีเท่านั้น

แน่นอนว่ามนุษย์ไม่สามารถเดินทางด้วยยานสำรวจที่มีความบางเท่ากับแผ่นการ์ด แต่ก็มีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ และการส่งพวกมันเดินทางไปยังอวกาศก็เพื่อศึกษาว่า สิ่งมีชีวิตจะได้รับผลกระทบอย่างไรเมื่อต้องเดินทางด้วยความเร็วสูงข้ามดวงดาว

ตามรายงานจากวารสาร Acta Astronautica ระบุว่า สิ่งมีชีวิตดังกล่าวจะต้องทนทานต่อรังสีและสามารถเข้าสู่ ‘สภาวะหยุดนิ่ง’ ได้ ดังนั้น สิ่งมีชีวิตทั้ง 2 ตัวที่ถูกเลือกมาสำหรับภารกิจครั้งก็คือ Tardigrade และ Caenorhabditis elegans

Tardigrade – ทาร์ดิเกรด หรือ หมีน้ำ สิ่งมีชีวิตที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก โดยมีขนาดเล็กเพียง 0.1 ถึง 1.5 มิลลิเมตร มันถูกพบได้ตั้งแต่ที่ยอดเขาหิมาลัยที่สูงกว่า 6,000 เมตรและใต้ทะเลลึก 4,000 เมตร สามารถทนอุณหภูมิระดับแช่แข็งได้ถึง -272.8 °C ทนได้ถึง 1 นาที และ -200 °C ทนได้ถึง 1 วันเต็ม สามารถทนอากาศร้อนได้สูงถึง 151 °C รวมไปถึงการทนรังสีเอ็กซเรย์ได้มากกว่ามนุษย์ถึง 1,000 เท่า ทนแรงดันได้สูงกว่าส่วนที่ลึกที่สุดในทะเลถึง 6 เท่า สามารถขาดน้ำได้ 200 ปี และเมื่อได้รับน้ำมันจะกลับมาคืนชีพได้อีกครั้ง

ในปี 2007 นักวิทยาศาสตร์ของนาซาได้ทำหมีน้ำไปทดสอบในโครงการ FOTON-M3 โดยนำมันไปล่อยในอวกาศไว้นานถึง 10 วัน และเมื่อนำกลับมายังโลก ก็พบว่าพวกมันส่วนใหญ่สามารถรอดชีวิตอยู่ในอวกาศได้ อีกทั้งยังมีบางตัววางไข่และออกลูกได้อีกด้วย

ส่วนสาเหตุที่มันแข็งแกร่งได้ขนาดนี้ เนื่องจากมันมีท่าไม้ตายที่เรียกว่า ‘สภาวะหยุดนิ่ง’ ด้วยการหดตัวหดขาลดขนาดตัวเองเหลือ 1 ใน 3 เพื่อให้ดูเหมือนสิ่งไม่มีชีวิต และลดอัตราการเผาผลาญพลังงานเมตาโบลิซึมให้เหลือเพียง 0.01% จากปกติ

ส่วน Caenorhabditis elegans เป็นหนอนโปร่งใสที่มีขนาดเพียง 1 มิลลิเมตร ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้แข็งแกร่งเทียบเท่ากับหมีน้ำ แต่มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำไปใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยครั้งจนมนุษย์คุ้นเคยกับมันดี และที่สำคัญคือสามารถทนต่อสภาวะแช่แข็งได้ ซึ่งหนอนชนิดนี้เคยถูกนำไปศึกษาทั้งในและนอกสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วเช่นกัน

ศาสตราจารย์ โจเอล โรธแมน ผู้ร่วมการศึกษาการเดินทางข้ามอวกาศกล่าวว่า เราสามารถติดตามพฤติกรรมพวกมันได้เมื่อบินออกจากโลกด้วยความเร็วใกล้เคียงกับแสง และสามารถตรวจสอบอัตราการเผาผลาญ สรีรวิทยา การทำงานของระบบประสาท การสืบพันธุ์ และอายุที่เพิ่มขึ้น

การทดลองส่วนใหญ่ที่สามารถทำกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ในห้องแล็บ ก็สามารถทำได้ในยานสำรวจเช่นกันในขณะที่พวกมันกำลังเดินทางผ่านจักรวาล ผลกระทบของการเดินทางอันยาวนานด้านชีววิทยาที่มีต่อสัตว์ สามารถนำมาคาดการณ์ไปถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้

ที่มา : iflscience | เรียบเรียงโดย เพชรมายา