เรื่องราวที่เพิ่งถูกเปิดเผยล่าสุดนี้อาจทำลายความหวังของผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตนอกโลก เนื่องจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ออกมากล่าวว่า มนุษย์เราประเมินโอกาสที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น “สูงเกินไป”
สาเหตุหลักก็คือ ดวงดาวเกินกว่าครึ่งที่อยู่ใน “พื้นเหมาะสม” ที่เอื้อต่อระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต กลับกลายเป็นดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว และดาวเคราะห์เหล่านี้ก็เต็มไปด้วยก๊าซพิษ อย่างเช่น คาร์บอนมอนออกไซด์ และคอร์บอนไดออกไซด์
ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า นักวิทยาศาสตร์ใช้เกณฑ์อะไรในการตามหาดาวเคราะห์ที่เหมาะสม ?
คำตอบคือ “อุณหภูมิที่เหมาะสม” และ “น้ำที่เป็นของเหลว” เป็นเกณฑ์ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการหาดาวเคราะห์ที่อาจเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิต
ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์เกินไป จะมีอุณหภูมิสูง น้ำจะระเหยจนหมด ส่วนดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลเกินไป อุณหภูมิจะต่ำ น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็ง แต่ถ้าดาวเคราะห์ดวงไหนที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แบบพอดิบพอดีเหมือนอย่างโลกของเรากับดวงอาทิตย์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
แต่การเจอดวงดาวที่เหมาะสมมันไม่ง่ายขนาดนั้น
ศาสตราจารย์ ทิโมธี ลีออนส์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า “ระบบนิเวศที่ซับซ้อนเหมือนอย่างโลกของเราไม่มีอยู่จริงในเขตพื้นที่เหมาะสมเหล่านี้เลย”
จากการใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศบนดาวเคราะห์ที่แตกต่างกันก็พบว่า กลุ่มดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ จำเป็นต้องมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่พอเหมาะ เพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่เหนือจุดเยือกแข็ง ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต
แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พอเหมาะของดาวเคราะห์เหล่านี้ ควรจะเป็นเท่าไหร่ล่ะ ?
ดร.เอ็ดเวิร์ด ชไวเทอร์แมน นักวิทยาศาสตร์จากนาซ่ากล่าวว่า “เพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิให้น้ำเป็นของเหลว ดาวเคราะห์จะต้องมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าโลกหลายหมื่นเท่า”
สรุปง่ายๆ คือ ดาวเคราะห์ที่คาดว่าจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและมีน้ำเป็นของเหลว กลับมีก๊าซ์คาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าโลกหลายหมื่นเท่า แล้วปริมาณก๊าซที่มากขนาดนี้ จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้อย่างไร ? ที่แน่ๆ ไม่มีมนุษย์และสัตว์ชนิดไหนในโลกที่ทนได้แน่นอน
ผลลัพธ์ก็คือ “พื้นที่เหมาะสม” ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตจะหดเหลือน้อยกว่า 1 ใน 3
ข่าวร้ายก็คือ ดวงดาวที่มีโอกาสจะมีสิ่งมีชีวิตจะลดน้อยลงไปอย่างมหาศาล แต่ข้อดีก็คือ เราจะโฟกัสไปยังดวงดาวที่เหลือได้แคบลงไปอีก และถ้าโชคดี เราอาจเจอดาวเคราะห์ที่เรากำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้
ที่มา : dailymail | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ