ย้อนกลับไปในช่วงฤดูร้อนปี 2019 วูล์ฟ คูเคียร์ นักเรียนมัธยมปลายวัย 17 ปีจากนิวยอร์กได้มีโอกาสเข้าร่วมฝึกงานกับศูนย์การบินอวกาศ Goddard ของ NASA ในเมืองกรีบเบลต์
งานของเขาคือการตรวจสอบข้อมูลการส่องสว่างของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง โดยดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ หรือที่รู้จักกันในชื่อดาวเทียม TESS (Transiting Exoplanet Survey Satellite)
สิ่งที่เขาต้องทำคือการมองหาแบบแผนของความสว่างที่อาจลดลงเป็นบางครั้ง ซึ่งการที่ดาวฤกษ์มีแสงที่หรี่ลงเป็นแบบแผน อาจเป็นไปได้ว่ามีปรากฏการณ์ Transit ซึ่งหมายถึงมีดาวเคราะห์บริวารเคลื่อนผ่านตัดหน้าดาวฤกษ์จนเกิดการบดบังแสงชั่วคราว
และในที่วันที่ 3 ของการฝึกงาน หนุ่มวัย 17 ได้ค้นพบกับดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่อยู่ห่างจากเราไป 1,300 ปีแสง ซึ่งในปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อดาวเคราะห์ TOI 1338b
ดาวเคราะห์ดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่าโลกเราเกือบ 6.9 เท่า เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ 2 ดวง และมันมีสีสันที่สวยงามแปลกตา ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับวงการดาราศาสตร์อย่างมาก
“ประมาณวันที่ 3 หลังจากผมกำลังตรวจสอบข้อมูลดาวเทียม ผมสังเกตเห็นสัญญาณจากระบบที่เรียกว่า TOI 1338b ตอนแรกผมเป็นมันเคลื่อนที่บังกัน (Eclipse) แต่ช่วงเวลามันผิดเพี้ยน ซึ่งปรากฏว่ามันคือดาวเคราะห์” วูล์ฟอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เขาพบ
ในขณะที่ดาวฤกษ์ทั้ง 2 ดวงนี้ ดวงหนึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 10% ส่วนอีกดวงมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าและมีมวลเพียง 1 ใน 3 ของดวงอาทิตย์
หลังจากวูลฟ์นำข้อมูลดังกล่าวไปบอกกับหัวหน้างาน ทาง NASA จึงได้ลงมือตรวจสอบดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างจริงจังเพื่อให้แน่ใจว่ามันมีอยู่จริงในระบบ ไม่ใช่เกิดจากความผิดพลาดจากข้อมูล
เรื่องนี้กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกหลังจากมีการเพยแพร่ภาพของมันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากมันมีสีสันแบบพาสเทลที่น่าหลงใหล ไม่ว่าจะเป็นสีชมพู ฟ้าอ่อน สีม่วง และสีเขียวที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว
“น้องชายของผมอยากให้ผมตั้งชื่อดาวดวงนี้ว่า “วูล์ฟโทเปีย” แต่ผมไม่มีสิทธิ์ตั้งชื่อดาวด้วยตัวเอง ผมจึงคิดว่าชื่อ TOI 1338b ตามหลักดาราศาสตร์น่าจะเหมาะสมแล้ว” เด็กหนุ่มกล่าว
และถึงแม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ แต่น่าเสียดายที่มันอาจมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ และมันอาจไม่มีพื้นดาวที่เป็นหินแข็งอีกด้วย
แต่ในขณะที่ผู้คนต่างหลงใหลกับสีสันของดาวดวงนี้ ก็มีชาวเน็ตหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า มนุษย์เราไม่มีกล้องที่ถ่ายภาพได้ไกลถึงขนาดนนั้น มันเป็นเพียงภาพที่ถูกสร้างขึ้นด้วย AI นั่นหมายความว่ามันไม่ใช่ภาพถ่ายจริง ๆ ของมัน ตัวอย่างเช่น ดาวพลูโต ที่กว่าเราจะได้เห็นภาพของจริงก็คือการส่งยานอวกาศเดินทางไปหามันถึงที่ และนับประสาอะไรกับดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่ไกลจนเราไม่สามารถเดินทางไปถึงได้
ที่มา : NASA Goddard | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ