สำหรับสายเนื้อทุกคนคงทราบดีว่า เนื้อวัววากิวแท้ ๆ จากญี่ปุ่นนั้นมีราคาแพงมาก และอาจมีราคาสูงตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่นบาท แต่จะดีแค่ไหนถ้าคุณสามารถผลิตเนื้อวากิวขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องใช้วัวจริง ๆ แม้แต่ตัวเดียว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอซากาของญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นว่า พวกเขาสามารถใช้เทคโนโลยี ไบโอปรินติง (Bioprinting) ในการพิมพ์สเต็กเนื้อวากิว 3 มิติออกมาได้จริง
สเต็กเนื้อวัวดังกล่าวประกอบด้วยเส้นใยเซลล์ที่นำมาจากวัว โดยนำมาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นชั้นของไขมันลวดลายหินอ่อนที่เราคุ้นเคยจากเนื้อวากิวของจริง
การค้นพบวิธีการพิมพ์เนื้อวากิว 3 มิติในห้องแล็บถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่พวกเขาหวังว่าจะช่วยให้เนื้อที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาเองจะถูกนำไปวางจำหน่ายได้อย่างแพร่หลาย โดยที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อวากิวต้นฉบับมากที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้สเต็มเซลล์ที่นำมาจากวัววากิวที่สามารถนำมาสร้างเป็นลวดลายหินอ่อนที่เป็นลักษณะเฉพาะของเนื้อวัววากิวที่แตกต่างจากเนื้อวัวอื่น ๆ
พวกเขาได้จัดระเบียบวิธีการทับซ้อนกันของกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และไขมัน จากนั้นก็ได้มีการปรับแต่งเนื้อเยื่อเหล่านี้ให้อยู่ในรูปของเนื้อสเต็กโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “ไบโอปรินติง 3 มิติ” (3D Bioprinting) ซึ่งสามารถจัดวางโครงสร้างเซลล์เป็นชั้น ๆ ให้คล้ายกับเนื้อเยื่อจริงของสิ่งมีชีวิต
ทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืนในการผลิตเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บได้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ต้นฉบับ ซึ่งแตกต่างจากเลียนแบบอาหารรูปแบบอื่น ๆ เช่น การใช้ผักมาทำเป็นเนื้อสัตว์ เนื่องจากต้นกำเนิดของมันมาจากเนื้อสัตว์จริง ๆ
“เมื่อเทคโนโลยีนี้ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่เพียงแต่เราจะสร้างโครงสร้างเนื้อที่ซับซ้อนได้ เช่น เนื้อวากิวลายหินอ่อนที่สวยงาม แต่เราจะสามารถปรับปรุงส่วนประกอบไขมันและกล้ามเนื้อได้อย่างละเอียดอีกด้วย” ดร.มิชิยะ มัตสึซากิ หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว
ด้วยความยืดหยุ่นนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถสั่งเนื้อสัตว์ที่แทรกปริมาณไขมันได้เท่าที่พวกเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งให้เข้ากับรสนิยมการรับประทานหรือปรับตามความเหมาะสมด้านสุขภาพของผู้รับประทาน
แม้ว่านี่จะเป็นเนื้อวากิวชิ้นแรกที่ถูกพิมพ์ 3 มิติขึ้นมาจนสำเร็จ แต่ก็มีความพยายามก่อนหน้านี้ในการทำไบโอปรินติงมาแล้ว โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาทาง Aleph Farms และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่สถาบันเทคโนโลยี Technion Israel ได้ประสบความสำเร็จในการพิมพ์ 3 มิติเนื้อสเต็กริบอายโดยใช้เซลล์วัวแท้ ๆ
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากนี้อีก 10-20 ปี อุตสาหกรรมอาหารของเราในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงก็เป็นได้
ที่มา : Zenger | insider | เรียบเรียงโดย เพชรมายา
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ