มีอะไรเกิดขึ้น หลังจากอุกกาบาตที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ชนโลก

ไดโนเสาร์ เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ครองโลกเรามาได้หลายล้านปี แต่สิ่งที่ทำให้พวกมันสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ก็คือตอนที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน จนเกิดเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ที่ในปัจจุบันเรียกว่า หุบอุกกาบาตชิกชูลุบ (Chicxulub Crater) ที่หลบซ่อนอยู่ใต้น่านน้ำของอ่าวเม็กซิโก

ผลที่ตามมาของการปะทะครั้งนี้ทำให้เกิดเป็น การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) ครั้งที่ 5 ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกประมาณ 80% สูญพันธุ์ไป รวมถึงไดโนเสาร์อีกด้วย

แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยชนโลก

ดาวเคราะห์น้อยลูกนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 กิโลเมตร และเดินทางด้วยความเร็ว 43,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากปะทะกับพื้นผิวโลกมันสร้างหลุมขนาดใหญ่ที่กว้างถึง 200 กิโลเมตร

สาเหตุที่มันสร้างบาดแผลให้กับโลกของเราได้รุนแรงอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากมุมตกกระทบของมันอยู่ที่ 60 องศา ซึ่งถือเป็นมุมที่เป็นอันตรายอย่างมากเพราะผลกระทบจากการชนจะทำให้เกิดเป็นฝุ่นละอองจำนวนมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาโครงสร้างของหุบอุกกาบาตชิกชูลุบอย่างละเอียดเพื่อจำลองการปะทะที่เกิดขึ้น การปะทะจะทำให้หินระเหยกลายเป็นไอโดยส่งกำมะถันในรูปแบบของละอองประมาณ 3.25 แสนล้านตัน และคาร์บอนไดออกไซด์ 4.35 แสนตัน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

ในขณะที่วัตถุที่กระเด็นขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่เป็นฝุ่นหินและกรดกำมะถัน ซึ่งทำให้เกิดเป็นเมฆผงฝุ่นระดับไมโครที่ห่อหุ้มโลกเราเอาไว้ เมื่อแสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องผ่านเมฆเหล่านี้มาได้เต็มที่ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็ลดลง และส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาวของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

อุณหภูมิเฉลี่ยในเขตร้อนลดลงจาก 27 องศาเซลเซียสเหลือเพียงแค่ 5 องศาเซลเซียส เมื่อแสงแดดส่องผ่านเข้ามาได้น้อยมาก พืชเองก็ไม่สามารถเติบโตได้เนื่องจากขาดการสังเคราะห์แสง สิ่งที่ตามมาก็คือห่วงโซ่อาหารทั้งบนบกและในมหาสมุทรก็พังทลาย

ในขณะเดียวกัน กรดกำมะถันในอากาศก็ทำให้เกิดฝนกรดที่มีความอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การที่เกิดฝนตกเป็นเวลาหลายวันก็ส่งผลให้ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ไม่ว่าจะในแม่น้ำ ทะเลสาบหรือในมหาสมุทรก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

นอกจากนั้นการปะทะยังก่อให้เกิดสึนามิขนาดยักษ์กระเพื่อมไปทั่วโลก คลื่นยักษ์ในช่วงต้นจะมีความสูงถึง 1,500 เมตร และมีความเร็ว 143 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อกระจายไปตามชายฝั่งของมหาสมุทรต่าง ๆ โดยมหาสมุทรแอตแลนติกจะมีความสูงของคลื่น 15 เมตร และแปซิฟิกเหนือจะมีความสูงคลื่น 4 เมตร

หลังจากนั้น ผงหินและเถ้าถ่านที่ล่องลอยอยู่บนชั้นบรรยากาศจะค่อย ๆ กลับคืนสู่ผิวน้ำ และเป็นชนวนให้เกิดไฟป่าตามมา

แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศของโลกที่ทำให้โลกเย็นลงเพียงชั่วข้ามคืน และกินเวลายาวนานต่อมานานกว่าทศวรรษ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจนหมดโลก สิ่งที่น่าสนใจก็คือถ้ามันเกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน เราจะมีวิธีรับมือกับมันได้อย่างไร

ที่มา : livescience | เรียบเรียงโดย เพชรมายา