ทำไมสัตว์ถึงไม่มีสีน้ำเงิน แม้สัตว์สีน้ำเงินที่คุณเห็นจะไม่ใช่สีน้ำเงินจริง ๆ ก็ตาม

หนึ่งในสีที่ผู้คนชื่นชอบมากที่สุดก็คือ “สีน้ำเงิน” อ้างอิงจากผลวิจัยระบุว่า มีประเทศที่มีสีน้ำเงินอยู่ในธงชาติมากถึง 75 ประเทศ (ใช่แล้ว รวมถึงไทยของเราด้วย) แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ทำให้เราไม่อาจเจอสีน้ำเงินตามธรรมชาติได้บ่อยนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสัตว์ต่าง ๆ วันนี้เพชรมายาจึงอยากพาทุกท่านไปรู้จักกับเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงมีสัตว์สีน้ำเงินน้อยมากบนโลกใบนี้ อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงกันแน่

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สีตามธรรมชาติมีที่มาได้หลัก ๆ 3 ประเภท คือ เม็ดสี (Pigments), สีที่เกิดจากโครงสร้าง (Strutural Colors) และ สารเรืองแสง (Bioluminescence) โดยสัตว์ส่วนใหญ่ที่มีสีน้ำเงินจะเกิดมาจาก เม็ดสี และ สีที่เกิดจากโครงสร้าง ซึ่งอย่างหลังนี่แหละ ที่เป็นตัวการหลอกเรา ทำให้เราเชื่อว่าสัตว์มีสีน้ำเงินจริง

1. ว่าด้วยเรื่องเม็ดสีและการกินที่ส่งผลต่อสีของสัตว์

ขนและผิวหนังของสัตว์เกือบทุกชนิดจะมีความสัมพันธ์กับอาหารที่พวกมันกินเข้าไป ตัวอย่างเช่น นกอเมริกันโกลด์ฟินช์มักจะกินดอกไม้ที่มีสีเหลือง และปลาแซลมอนและนกฟลามิงโกมักจะกินหอยและกุ้งที่มีสีชมพู เม็ดสีจากพืชและสัตว์ที่มันกินจะส่งผลต่อสีขนและสีผิวของพวกมัน

Blue iguana on tree branch

เรามักจะเห็นสีน้ำตาล สีแดง และสีส้มได้ตามธรรมชาติ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับสีน้ำเงิน เพราะพืชที่มีเม็ดสีน้ำเงินในธรรมชาตินั้นหายากมาก ดังนั้นสัตว์ก็ไม่สามารถมีสีน้ำเงินได้ผ่านอาหารที่พวกมันกิน จึงเป็นเหตุผลที่สัตว์สีน้ำเงินจริง ๆ จึงแทบไม่มีเลย

2. สัตว์สีน้ำเงินส่วนใหญ่ จริง ๆ แล้วไม่ได้มีสีน้ำเงิน

สี คือวิธีที่เรารับรู้ความยาวคลื่นแสงที่แตกต่างกัน นั่นเป็นเหตุผลที่สัตว์สีน้ำเงินไม่ได้มีสีน้ำเงินจริง ๆ มันไม่ได้มีเม็ดสีน้ำเงิน แต่มันเป็น “สีที่เกิดจากโครงสร้าง”

ผีเสื้อมอร์โฟสีน้ำเงินจากภาพด้านบน คือหนึ่งในสัตว์ที่มีโครงสร้างทางกายภาพที่น่าอัศจรรย์ การเรียงตัวของเกล็ดปีกผีเสื้อมอร์โฟจะมีลักษณะคล้ายแนวต้นสนที่สูงเพียง 90 นาโนเมตร ระยะห่างของเกล็ดแต่ละแถวกลับมีขนาดเท่ากับความยาวคลื่นแสงสีฟ้าอย่างพอดี จึงทำให้ปีกของผีเสื้อชนิดนี้ดูดซับสีอื่นทั้งหมดยกแว้นสีน้ำเงินที่สะท้อนออกมาให้เราเห็น ในทางกลับกันที่ด้านล่างปีกก็จะเป็นสีน้ำตาล

และในเมื่อสีของปีผีเสื้อขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางกายภาพ เมื่อไหร่ก็ตามที่ภายในปีกของมันถูกแทนที่ด้วยสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อากาศ ตัวอย่างเช่น แอลกอฮอล์ สีน้ำเงินบนปีกก็จะหายไปและเปลี่ยนเป็นสีอื่นแทน

3. สีที่เกิดจากโครงสร้าง (Strutural Colors)

กลไกของการเกิดสีทางโครงสร้างมีหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างของผีเสื้อมอร์โฟ คือ การกระจายแสง (Diffraction Gratings) แต่สำหรับ นกบูลเจย์ นกยูง ที่เราเห็นเป็นสีน้ำเงินจะเกิดจาก การกระเจิง (Scattering) คือการเปลี่ยนทิศทางการแผ่ของแสง

นอกจากนั้นในผีเสื้อบางชนิด สัตว์น้ำ เช่น ปลา หอย ปู หมึก หรือพวกด้วง จะมีสีน้ำเงินจาก การแทรกสอดของฟิล์ม (Film Interference) ซึ่งเป็นอีกรูปแบบการสะท้อนของแสงที่ทำให้สัตว์มีสีน้ำเงินเช่นกัน

4. ไม่มีนกที่มีขนสีน้ำเงินจริง ๆ

จากข้อ 2 และ 3 ทำให้เรารู้ว่า ไม่มีนกที่มีขนสีน้ำเงินอยู่จริง ๆ เพราะสีน้ำเงินที่เราเห็นบนขนนก มาจากหนึ่งในรูปแบบการเกิดแสงที่กล่าวมาเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น หางของนกยูงจริง ๆ แล้วมีเม็ดสีน้ำตาล แต่โครงสร้างขนในระดับจุลภาคทำให้เกิดเป็นสีน้ำเงินและสะท้อนแสงได้ จนเกิดเป็นเหลือบสีที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้พบเห็น บางครั้งก็ออกเป็นเขียวอ่อน สีน้ำเงิน และเกิดเป็นประกายระยิบระยับคล้ายสีรุ้ง

5. มีผีเสื้อเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สร้างสีน้ำเงินขึ้นมาได้

เม็ดสีน้ำเงินแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และคุณจะเห็นได้จากผีเสื้อเพียงชนิดเดียวนั่นคือผีเสื้อ Olivewing พวกมันมีการวิวัฒนกาารทางเคมีด้านเม็ดสีบนปีกและจะไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่ามันจะอยู่ในสถานะไหน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงฉงนกับเรื่องนี้อยู่

สัตว์สีน้ำเงิน ถือเป็นสีที่มีความโดดเด่นและน่าดึงดูดเสมอ ต่อไปในอนาคต ถ้ามีสัตว์ชนิดไหนที่สามารถหักเหแสงด้วยขนของมันได้ เราก็อาจได้เห็นการกลายพันธุ์ที่ดูสดใสแบบนี้ก็เป็นได้

ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา

สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ