ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ คิดว่าตนเองพอมีความรู้เกี่ยวกับโลกและจักรวาลอยู่บ้าง แต่เชื่อเหลือเกินว่า มีเรื่องง่ายๆ หลายสิ่ง ที่คุณยังเข้าใจผิดอยู่บ้าง ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้าง วันนี้เพชรมายาะขอพาทุกท่านไปชมกัน
1. โลกมีรูปทรงกลมเป๊ะ เหมือนในภาพถ่ายใช่ไหม ?
ใครที่คิดว่าโลกจะเป็นวงรี โลกจะมีผิวขรุขระ หรือแม้แต่โลกแบน อาจจะต้องผิดหวัง เพราะคำตอบคือจริง แต่มันก็ไม่จริงเสียทั้งหมด เนื่องจากรูปร่างโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน แน่นอนว่ามันเป็นค่าเพียงเล็กน้อยมาก อยู่ราวๆ 5 ซม. ต่อปี ซึ่งแทบไม่ส่งผลต่อขนาดของโลกเราที่ดูเป็นทรงกลมเป๊ะเลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูภาพที่น่าสนใจทางด้านล่างนี้ จะแสดงให้เห็นถึงแบบจำลองของแรงโน้มถ่วงของโลกเรา มันถูกสร้างจากฐานข้อมูลดาวเทียม และก็ไม่ได้แสดงภาพรูปร่างอย่างที่เราเห็น แต่มันเป็นเพียงแค่การแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของแรงโน้มถ่วงในจุดต่างๆ ของโลกที่แตกต่างกันนั่นเอง
2. ดวงจันทร์มีด้านมืด ?
หลายคนคงทราบกันดีว่า ดวงจันทร์โคจรในแบบหันหน้าเข้าหาโลกเพียงด้านเดียว ดังนั้นเราจึงเห็นดวงจันทร์เพียงด้านเดียวตลอดเวลา และไม่เคยเห็นอีกด้านของมัน จนพาลคิดไปว่า อีกด้านของดวงจันทร์คือด้านมืด (Dark Side) ที่ไม่เคยพบแสงสว่างเลย
แต่ในความเป็นจริง แสงจากดวงอาทิตย์ยังคงส่องสว่างไปถึงดวงจันทร์ ไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม ดังนั้น ดวงจันทร์จะไม่มีด้านมืดอย่างที่หลายคนเข้าใจ และมีแต่เพียงด้านใกล้ (Near Side) และด้านไกล (Far Side) เท่านั้น
3. ดาวพุธเป็นดาวที่ร้อนที่สุด ?
คิดแบบง่ายๆ ก็คือ ดาวพุธเป็นดาวที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดังนั้น ดาวพุธก็ต้องมีร้อนที่สุดน่ะสิ คำกล่าวนี้ดูจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะในความเป็นจริง ดาวที่ร้อนที่สุดในระบบสุริยะของเรากลับเป็นดาวศุกร์ต่างหาก
ถึงแม้ดาวศุกร์จะอยู่ไกลดวงอาทิตย์กว่าดาวพุธถึง 50 ล้านกิโลเมตร แต่อุณหภูมิพื้นผิวของมันในตอนกลางวันเฉลี่ยแล้วสูงถึง 480 °C มากกว่าดาวพุธ ที่มีค่าเฉลี่ยแค่ 350 °C เท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ดาวศุกร์มีอุณหภูมิสูงกว่าดาวพุธก็คือ ดาวพุธนั้นไม่มีชั้นบรรยากาศ แต่ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่หนามาก จนส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกที่รุนแรง แสงอาทิตย์จึงติดอยู่ในชั้นบรรยากาศและทำให้อุณหภูมิของมันสูงปรี๊ดกว่าดาวดวงไหนในระบบสุริยะ
4. ดวงอาทิตย์ เป็นบอลไฟยักษ์ ?
ทุกคนรู้ว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์สูงโคตรๆ มากกว่า 5,700 °C ซึ่งนั่นทำให้มันเป็นเหมือนลูกบอลไฟขนาดยักษ์ แต่นั่นอาจไม่ใช่คำเปรียบเปรยที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะสิ่งที่เราคิดว่าเป็นไฟ แท้จริงแล้วมันคือพลังงานจากความร้อนและแสง ที่กำเนิดจากปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ในแกนกลางของตัวมันเอง
ปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ คือปฏิกิริยาที่ต้องอาศัยความร้อนมหาศาลในการรวมนิวเคลียสของธาตุเบาอย่างไอโซโทปของไฮโดรเจน จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้อุณหภูมิที่สูงถึงสองร้อยล้านองศาเซลเซียส ซึ่งพลังงานงานจะถูกส่งผ่านมายังพื้นผิวของดวงอาทิตย์ และทำให้เราเห็นเหมือนกับว่ามันกำลังเผาไหม้อยู่
5. ดวงอาทิตย์มีสีส้มหรือเหลือง ?
ใครที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อาจบอกได้อย่างมั่นอกมั่นใจว่า ดวงอาทิตย์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น “ดาวแคระเหลือง” ดังนั้น มันจึงต้องเป็นสีเหลืองแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่า ดาวแคระเหลืองทั้งหมด รวมถึงดวงอาทิตย์มี “สีขาว” ต่างหาก
แล้วทำไมตาของมนุษย์จึงเห็นมันเป็นสีเหลืองล่ะ ? คำตอบคือ “ชั้นบรรยากาศโลก” นั่นเอง สาเหตุเพราะแสงที่มีความยาวคลื่นยาว (เหลืองและแดง) จะผ่านทะลุชั้นบรรยากาศได้ดีที่สุด ส่วนแสงที่มีความยาวคลื่นสั้น จะกระจายไปในชั้นบรรยากาศ นั่นจึงทำให้เรามองเห็นแสงอาทิตย์เป็น “สีเหลือง” แต่ถ้าคุณไม่อยู่ภายใต้ชั้นบรรยากาศล่ะก็ คุณจะมองเห็น “สีที่แท้จริง” ของดวงอาทิตย์นั่นเอง
6. มนุษย์จะอยู่รอดในอวกาศ โดยไม่ใส่ชุดอวกาศได้หรือไม่ ?
ความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ เป็นผลมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายๆ เรื่อง ที่กำหนดผลลัพธ์นี้ไปตามจินตนาการของตัวเอง อย่างเช่น ตัวนักบินอวกาศอาจระเบิดจากแรงดันเลือด เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงผิวของมนุษย์มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรักษาอวัยวะภายในของเราให้อยู่ในอวกาศได้ และผนังหลอดเลือดจะป้องกันไม่ให้เลือดร้อนขึ้นอีกด้วย
นอกจากนั้น ในกรณีที่ไม่มีแรงดันภายนอกในสภาวะสูญญากาศ อุณหภูมิของเลือดจะพุ่งขึ้นไปถึง 46 °C ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงกว่าร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้ร่างกายของเราจะขยาย แต่แน่นอนว่ามันจะไม่ระเบิดแต่อย่างใด
ส่วนคำถามที่ค้างคาใจเราก็คือ เราจะตายหรือไม่ ? คำตอบก็คือ เราจะตายจากการขาดออกซิเจนแค่เพียง 15 วินาที ในสภาวะสูญญากาศโดยไม่มีชุดอวกาศ คุณจะหมดสติ และตายภายใน 2 นาที
7. โลกเราจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในฤดูหนาว มากกว่าในฤดูร้อน ?
นี่คือความเชื่อที่ฟังดูมีเหตุผล เพราะในฤดูหนาว อากาศจะหนาวกว่าในฤดูร้อน นั่นหมายความว่าโลกอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่า แต่ในความเป็นจริงมันกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะในช่วงที่อากาศหนาว โลกของเราจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าในฤดูร้อนถึง 5 ล้านกิโลเมตร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ ?
จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดฤดูกาลไม่ใช่เรื่องใกล้ไกล แต่เป็นความเอียงของแกนโลก เพราะแกนของโลกชี้ไปที่จุดๆ เดียวในขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ซีกใดซีกหนึ่งของโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ซึ่งถ้าซีกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ก็จะเป็นฤดูร้อนของซีกโลกทางเหนือ ในทางกลับกันถ้าซีกโลกทางใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ก็จะเป็นฤดูร้อนของซีกโลกทางใต้นั่นเอง
8. ดางหางพุ่งไปด้วยแรงของมันเอง ?
เรารู้แต่ดาวหางมันพุ่งได้เหมือนจรวด เพราะมันมีหางราวกับไอพ่น แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า มันขับเคลื่อนด้วยตัวของมันเองอย่างนั้นหรือ ? ซึ่งถ้าคุณคิดแบบนั้นล่ะก็ ผิดถนัด เพราะหางของดางหางนั้นไม่ใช่ไอพ่น แต่มันเกิดจากลมสุริยะซึ่งเป็นกระแสธารของอนุภาคประจุไฟฟ้าพลังงานสูงที่พัดมาจากดวงอาทิตย์
หัวของดาวหางมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็งและฝุ่นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะได้รับความร้อนและลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำแข็งในหัวของดาวหางเกิดการระเหิดเป็นก๊าซและพ่นออกมาจากรูเล็กรูน้อยในหัวดาวหาง
ส่วนน้ำแข็งและฝุ่นก๊าซเหล่านี้ก็จะถูกลมสุริยะพัดออกไปตามทิศทางของลมสุริยะ นั่นเป็นเหตุผลที่เราเห็นว่าหางของดาวหางนั้นจะมีทิศทางชี้ไปทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติมด้านล่างครับ
ที่มา : brightside | thaiastro | เรียบเรียงโดย เพชรมายา