ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พยายามไขปริศนาเกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ และได้ค้นพบความลึกลับมากมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้สมองของเรา และวันนี้เพชรมายาจะขอพาทุกท่านมาเรียนรู้ความลึกลับของสมองเหล่านี้ ที่ถูกอธิบายมาเป็นจริงทางจิตวิทยาที่จะเปิดเผยตัวตนของมนุษย์เราให้คุณได้รู้มากขึ้น
1. เรากำลังเปลี่ยนแปลงความทรงจำอยู่ตลอดเวลา
เรามักจะเห็นความทรงจำของตัวเองเหมือนกับภาพยนต์หรือวีดีโอคลิป และมักคิดว่าความทรงจำเหล่านี้เปรียบเสมือนสิ่งที่ถูกเซฟไว้ในสมองของเราอย่างปลอดภัยและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตสามารถเปลี่ยนแปลงไปเสมอ เวลาที่มันผ่านเข้ามาในสมองของเรา โดยเป็นผลมาจากความทรงจำบางส่วนที่ล้มเหลวและการถูกแทนที่โดยเหตุการณ์ที่ใหม่กว่า
ตัวอย่างเช่น คุณจำไม่ค่อยได้ว่าใครบ้างที่มาร่วมงานรวมญาติของครอบครัวเมื่อ 2-3 ปีก่อน สิ่งที่คุณจำได้คือ คุณป้าของคุณไม่เคยพลาดงานรวมญาติเลย ความทรงจำของคุณก็จะใส่คุณป้าคุณลงไปในความทรงจำนี้ด้วย แม้ว่าเธอจะไม่ได้มาในครั้งนั้นก็ตาม
2. เราสามารถมีเพื่อนได้จำนวนจำกัด
โรบิน ดันบาร์ นักจิตวิทยาระบุว่า สมองของมนุษย์มีขีดจำกัดในการจำรายละเอียดต่างๆ และนั่นทำให้มนุษย์มีเพื่อนได้มากที่สุดเฉลี่ยคือ 150 คน โดยตัวเลข 150 นี้ถูกเรียกว่า “จำนวนของดันบาร์ (Dunbar’s Number)” นอกจากนั้นภายในตัวเลข 150 ยังถูกแบ่งออกไปอีกเป็น เพื่อนสนิทที่สุด 5 คน และสนิทรองลงมาคือ 15, 50 และ 150 ตามลำดับ และถึงแม้คุณจะมีเพื่อนในเฟสบุ๊คเป็นพันๆ คนก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว คุณจะมีคนที่สื่อสารกับคุณจริงๆ เพียงแค่ 50-200 คนเท่านั้น
3. เรารู้สึกมีความสุขกว่า เมื่อเรายุ่ง
ลองจินตนาการว่าคุณกำลังอยู่ที่สนามบินและต้องไปรับกระเป๋าเดินทาง คุณใช้เวลาเดินไป 10 นาทีจนถึงสายพานและหยิบกระเป๋าออกมาได้ทันที
ลองจินตนาการใหม่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน คุณพบทางลัดไปยังสายพานโดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาที จากนั้นคุณก็ใช้เวลาที่เหลือรอกระเป๋าอีก 8 นาที เพื่อรอกระเป๋าเดินทางของคุณโผล่ออกมาให้คุณหยิบ
ทั้ง 2 สถานการณ์นี้ คุณใช้เวลาทั้งหมดรวม 10 นาทีเท่าๆ กัน เพื่อไปรับกระเป๋าเดินทางออกมา แต่ในสถานการณ์ที่สอง มีความเป็นไปได้ที่คุณจะรู้สึกใจร้อนและกระวนกระวายใจ นั่นเป็นเพราะสมองของคุณไม่ชอบการอยู่นิ่งๆ แต่ชอบที่จะอยู่แบบวุ่นๆ แทน และทุกครั้งที่เราทำเรื่องวุ่นๆ ให้ลุล่วงไปได้ สมองก็จะให้รางวัลด้วย โดพามีน ฮอร์โมนแห่งความสุขนั่นเอง
4. เราสามารถจดจำได้เพียง 3-4 สิ่งในแต่ละครั้งเท่านั้น
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สมองของเราสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ไม่เกิน 3-4 ข้อมูลในครั้งเดียว นอกจากนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลดังกล่าวได้เพียง 20-30 วินาทีเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้เราจะลืมมัน เว้นเสียแต่ว่าเราจะคิดถึงมันซ้ำแล้วซ้ำอีก
ตัวอย่างเช่นคุณกำลังขับรถและคุยโทรศัพท์ไปด้วย คนในปลายสายก็ให้เบอร์โทรมาเบอร์หนึ่ง แต่คุณไม่สามารถจดลงได้ในเวลานั้น คุณจึงพยายามท่องมันซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อเก็บมันให้อยู่ในความทรงจำระยะสั้น จนกว่าคุณจะเขียนมันลงในกระดาษ
ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเรื่องง่ายถ้าเราต้องจำข้อมูลเพียง 3-4 อย่างในครั้งเดียว และนั่นเป็นเหตุผลที่ตัวเลขที่มีจำนวนมากเรียงติดกัน จะถูกแบ่งเป็นชุด ชุดละ 3-4 ตัวเลข อย่างเช่นหมายเลขบัตรเครดิต หรือหมายเลขมือถือก็ตาม
5. การรับรู้ของเรา แตกต่างจากสิ่งที่ปรากฏอยู่จริง
สมองของเราประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสของอวัยวะต่างๆ มันจะวิเคราะห์ภาพที่เราเห็นและตีความพวกมันในแบบที่เข้าถึงได้และเข้าใจได้
ยกตัวอย่างเหตุผลที่เราสามารถอ่านข้อความได้ด้วยความรวดเร็ว จริงๆ แล้วเราไม่ได้อ่านมันทุกตัวอักษร เราเพียงแค่สังเกตอักษรตัวแรกและตัวท้ายของแต่ละคำ และเติมเต็มในส่วนที่เหลือ โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ที่เราเคยเห็นมาก่อน
“มันไม่ สคำญ ว่าตัว อัษกร จะ ปากรฏ ตงรหไน” จากประโยคนี้คุณจะเห็นว่าการสะกดคำนั้นผิดเพี้ยนไปแต่คุณก็ยังเข้าใจว่ามันคือคำว่าอะไรอยู่ดี ซึ่งการทำงานของสมองในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดกับเฉพาะกับการข้อความเท่านั้น
6. เราใช้เวลาของเรา 30% ฝันกลางวัน
ลองจินตนาการว่าคุณกำลังอยู่ที่ทำงานและกำลังศึกษาเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่ง แต่จู่ๆ คุณก็รู้สึกได้ว่า คุณเพิ่งอ่านประโยคเดิม 3 ครั้งในบรรทัดเดียวกัน แทนที่จะโฟกัสไปที่เอกสารสำคัญ แต่จิตใจคุณดันไปเถลไถลอยู่
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า ในทุกๆ วัน เราใช้เวลามากถึง 30% ในการฝันกลางวัน เช่น ในระหว่างการเดินทางไกลๆ (บางครั้งอาจเพิ่มมากถึง 70%) แต่นี่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่ชอบฝันกลางวันมีแนวโน้มว่าเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า นอกจากนั้นพวกเขายังเป็นนักแก้ปัญหาและขจัดความเครียดได้ดีกว่าด้วย
7. เราไม่สามารถละเลย 3 สิ่งในชีวิต นั่นคือ อาหาร, เซ็กส์ และ อันตราย
คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมผู้คนที่ชอบหยุดดูอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามท้องถนน ? แม้ว่าภาพที่เห็นจะชวนให้เวทนาและสยดสยอง แต่พวกเขาก็ยังคงมุงกันต่อไป
ความอยากรู้อยากเห็นนี้เกิดจากสมองที่เรียกว่า “Old Brain” ซึ่งเป็นส่วนที่รับผิดชอบต่อการอยู่รอดขั้นพื้นฐาน การกินอาหาร การมีเซ็กส์ และการเอาตัวรอดจากอันตราย จะทำให้มนุษย์ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ และถึงแม้เราจะช่วยใครจากอันตรายไม่ได้ เราก็ยังคงให้ความสนใจกับอันตรายนั้นอยู่ดี
8. เราต้องการตัวเลือกมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตั้งโต๊ะ 2 ตัวไว้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต บนโต๊ะตัวแรกได้วางแยม 6 ชนิดเอาไว้ ส่วนโต๊ะตัวที่สองพวกเขาวางแยมเอาไว้ถึง 24 ชนิดซึ่งผลลัพธ์ปรากฏว่า มีลูกค้ามาหยุดลองแยมที่โต๊ะตัวแรกถึง 60% มีเพียง 40% เท่านั้นที่มาลองแยมที่โต๊ะสอง อย่างไรก็ตามเมื่อลูกค้าต้องตัดสินใจซื้อ โตีะที่สองกลับได้รับความนิยมสูงกว่าถึง 4 เท่า
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? อย่างที่เราทราบกันไปแล้วว่า สมองของเราสามารถจดจำได้เพียง 3-4 สิ่งต่อครั้งเท่านั้น ดังนั้นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะง่ายกว่าเมื่อเรามีตัวเลือกที่จำกัด (ในตัวอย่างคือแยม 6 ชนิด)
แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังกระหายตัวเลือกที่หลากหลายกว่าเสมอ เรารักที่จะดูชมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมลูกค้าถึงมีแนวโน้มที่จะหยุดซื้อแยมที่โต๊ะตัวที่สองมากกว่าโต๊ะแรก (แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่เราเคยซื้อมาแล้วหลายครั้งก็ตาม)
9. การตัดสินใจส่วนใหญ่ของเรา เกิดตอนไม่มีสติ
เราเชื่อว่าการกระทำทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการตั้งใจทำอย่างมีสติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การตัดสินใจของเราในชีวิตประจำวัน 60-80% เกิดจากการกระทำที่ไม่มีสติ เราไม่ได้คิดอะไรเลยเกี่ยวกับการทำสิ่งเหล่านั้น เราก็แค่ทำมันลงไปเท่านั้นเอง
ในทุกๆ วินาที สมองของเรารับข้อมูลเป็นล้านๆ หน่วย แลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหนื่อยล้าจนเกินไป การทำงานบางส่วนจึงถูกส่งไปให้จิตใต้สำนึกเป็นผู้ดูแลแทน เวลาที่คุณจะออกจากบ้าน คุณหยิบกุญแจ ปิดไฟ ล็อคประตู ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากความคิดใดๆ และนั่นเป็นสาเหตุให้เรามักสงสัยตัวเองบ่อยๆ เวลาออกจากบ้านแล้วลืมล็อคประตู ถอดปลั๊กเตารีด หรือปิดแก๊สหรือยัง
10. ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทำหลายอย่างพร้อมกัน”
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เราสามารถทำกิจกรรมที่ต้องทำความเข้าใจได้เพียงหนึ่งอย่างเท่านั้น ลองพูดและอ่านหนังสือไปพร้อมๆ กัน หรือเขียนจดหมายในขณะที่กำลังฟังคนพูดอยู่ แน่นอนว่าไม่มีอะไรออกมาดี สมองของเราไม่สามารถโฟกัส 2 สิ่งพร้อมๆ กันได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นอยู่ ถ้ากิจกรรมที่สองเป็นเรื่องทางกายภาพและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ (ประเภทของสิ่งที่เราทำเป็นกิจวัตรประจำวัน) นั่นจึงมีความเป็นไปได้ที่คุณจะทำงานสองสิ่งพร้อมกันได้ ตัวอย่างเช่น คุณสามารถพูดโทรศัพท์ในขณะเดินได้ แต่ถึงอย่างนั้น โอกาสที่คุณจะเดินสะดุดหรือเสียสมาธิในการคุยก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : brightside | เรียบเรียงโดย เพชรมายา