ในตอนหนึ่งของนิทาน “หนูน้อยหมวกแดง” หมาป่าที่ปลอมเป็นคุณยาย บอกกับหนูน้อยหมวกแดงว่า สาเหตุที่หูของมันใหญ่ขึ้น ก็เพื่อที่จะได้ยินเสียงของหนูน้อยได้ดีขึ้น เห็นได้ชัดว่าหมาป่ากำลังโกหกและปกปิดตัวตนที่มีหูอันใหญ่โตจากหนูน้อยหมวกแดง และดูเหมือนหมาป่าจะสร้าง “ประเด็น” ขึ้นมาให้เราได้ขบคิดกันว่า จริงๆ แล้ว หูที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้การได้ยินของเราดีขึ้นจริงหรือ ? สำหรับหมาป่า ย่อมมีการได้ยินที่ดีกว่ามนุษย์อย่างเราๆ แต่มันเกี่ยวข้องกับขนาดหูด้วยหรือเปล่า ?
ในอาณาจักรของสัตว์ ขนาดของหูไม่ได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการได้ยินดีขึ้นแต่อย่างใด มาลองเปรียบเปรียบเทียบระหว่างค้างคาวและหนูชินชิลล่า
สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้ มีหูขนาดใหญ่ด้วยกันทั้งคู่ แต่กลับมีความสามารถในการได้ยินด้านความถี่ที่แตกต่างกันอย่างมาก
ค้างคาวสามารถได้ยินความถี่ของเสียงระหว่าง 2,000 จนถึง 110,000 เฮิรตซ์ ในขณะที่ชินชิลล่า สามารถได้ยินคลื่นความถี่เสียงแค่เพียง 90 ถึง 22,800 เฮิรตซ์เท่านั้น
นอกจากนั้น สัตว์ที่มีหูใหญ่ส่วนมาก ขนาดของหูจะมีประโยชน์ในการรักษาอุณหภูมิร่างกายให้เย็นลง มากกว่าที่จะช่วยเรื่องความสามารถในการได้ยิน
ถ้าเราพิจารณาจากช้าง ขนาดหูของช้างแอฟริกันจะใหญ่กว่าช้างเอเชีย และหูที่มีขนาดใหญ่ของมันจะช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่ดีของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตร้อน
ย้อนกลับมาที่มนุษย์กันบ้าง หูชั้นนอกของเราที่เรียกว่า “ใบหู” มีหน้าที่หลักๆ เพียง 2 อย่างคือ ช่วยป้องกัน “ช่องหู” และรวบรวมคลื่นเสียงที่มาจากแหล่งต่างๆ ส่งเข้าสู่รูหู
สมมุติว่าหูของเราจะถูกพัฒนาให้ใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่า “ขนาด” ก็ยังคงไม่สำคัญเท่ากับ “รูปร่าง” ของหูอยู่ดี แต่โปรดจำไว้ว่า รูปทรงของหูที่แตกต่างกันของมนุษย์ ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการได้ยินที่แตกต่างกันเช่นกัน ยกเว้นแต่กรณีมีข้อบกพร่องจากกรรมพันธุ์มาตั้งแต่เกิด ซึ่งโครงสร้างโดยพื้นฐานของหูเรา ก็เหมือนๆ กันในมนุษย์ทุกๆ คน
ในขณะที่ใบหูมีบทบาทสำคัญก็จริง แต่กลไกการได้ยินของเรานั้นจะอยู่ลึกลงไปข้างในรูหูมากกว่า เสียงที่ผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปสั่นสะเทือนที่แก้วหู แก้วหูก็จะไปสั่นกระดูกทั่ง ค้อน และโกลน หลังจากนั้นกระดูกโกลนก็จะไปสั่นคอเคลีย (ท่อขดก้นหอย) ของเหลวในคอเคลียจะไปสั่นเซลล์ขนในคอเคลีย เซลล์ขนจะแปรความสั่นสะเทือนเป็นกระแสไฟฟ้าและส่งไปยังเส้นประสาท กระแสไฟฟ้าจะเดินทางผ่านเส้นประสาทและไปที่ไปที่สมอง เพื่อให้สมองแปรเป็นข้อมูล
สรุปง่ายๆ หากใครที่งงในประโยคด้านบนก็คือ กระบวนการได้ยินเสียงดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับขนาดของหูที่อยู่ภายนอกเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเราสามารถเชื่องโยงขนาดของหูกับอายุที่มากขึ้นของเรา ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
หูของมนุษย์จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 50 ปีโดยประมาณ หูของเราจะมีขนาดใหญ่ขึ้นราว 1 เซนติเมตรโดยประมาณ ในขณะเดียวกัน มนุษย์เราก็จะเริ่มสูญเสียการได้ยินเมื่อมีอายุที่มากขึ้น โดย 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ จะประสบปัญหาการได้ยินอย่างชัดเจน เมื่อมีอายุราว 75 ปี
และทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงสรุปได้ว่า ถึงแม้คุณจะมีขนาดหูที่ใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่า การได้ยินของคุณก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : howstuffworks | เรียบเรียงโดย เพชรมายา