เมื่อนานมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับส่วนประกอบของดวงอาทิตย์อยู่ จนกระทั่ง เซซิเลีย เพย์น-กาโพชคิน สาวนักศึกษาปริญญาเอกวัย 25 ปีได้เขียนวิทยานิพนธ์ของเธอที่พิสูจน์ว่า ดวงอาทิตย์และดาวดวงอื่นๆ มีส่วนประกอบหลักคือฮีเลียมและไฮโดรเจน อย่างไรก็ตาม ผลงานการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของเธอไม่เพียงแต่ไม่ได้ถูกยกย่องเชิดชู แต่ยังถูกคนอื่นขโมยผลงานเอาไปแบบหน้าด้านๆ โดยที่ไม่มีอ้างอิงเครดิตมาถึงเธอแม้แต่น้อย
ในปี 2002 เจเรเมี โนว์เลส คณบดีจากคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ออกมาพูดถึงเซซิเลียว่า “ผู้หญิงที่ค้นพบว่าจักรวาลคืออะไร เธอไม่เคยได้รับการประกาศเกียรติคุณใดๆ เลยจนกระทั่งเธอจากไปในปี 1979 ข่าวการเสียชีวิตของเธอไม่เคยบอกถึงการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของเธอ โรงเรียนทุกโรงเรียนสอนให้เด็กรู้ว่า นิวตันค้นพบแรงโน้มถ่วง, ดาวินค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการ หรือไอสไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ”
“แต่เมื่อเราพูดถึงส่วนประกอบของจักรวาล ในหนังสือพูดแค่เพียงว่า ธาตุที่เป็นส่วนประกอบมากที่สุดในจักรวาลก็คือไฮโดรเจน และไม่มีใครเคยสงสัยว่า ทำไมเราถึงรู้เรื่องนี้ หลังจากที่เธอจบปริญญาเอก เธอทำงานเป็นอาจารย์อยู่ในแผนกดาราศาสตร์ แต่วิทยานิพนธ์ของเธอไม่เคยถูกนำมาบรรจุในการเรียนการสอน เธอยังคงทำงานวิจัยโดยที่ไม่เคยได้รับการยกย่องใดๆ และเงินเดือนอันน้อยนิดของเธอก็ถูกแบ่งมาจากค่าอุปกรณ์การวิจัยของแผนก แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังอยู่รอดและเฉิดฉายในวงการดาราศาสตร์ได้”
เซซิเลียเกิดเมื่อปี 1900 ในเมืองเวนโดเวอร์ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เด็กเธอฝันอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และด้วยความพยายามของเธอก็ทำให้เธอบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ ในปี 1919 เธอได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่วิทยาลัยนิวแนม ของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ถึงแม้เธอจะเรียนจบได้สำเร็จแต่เธอก็ไม่เคยได้รับปริญญา เนื่องจากทางแคมบริดจ์เองไม่มอบปริญญาให้กับผู้หญิงจนกระทั่งปี 1948
เซซิเลียตระหนักดีว่า ผู้หญิงอย่างเธอมีโอกาสน้อยมากที่จะได้อยู่ในชุมชนนักวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ตัวเลือกเดียวของเธอก็คือการเป็นคุณครูในโรงเรียน แต่หลังจากที่เธอได้มีโอกาสรู้จักกับ ฮาร์โลว์ เชปลีย์ ผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอก็ตัดสินใจที่ไล่ตามฝันด้วยการเป็นนักวิทยาศาสตร์อีกครั้ง ด้วยการเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
เซลิเลียเป็นผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและด้านดาราศาสตร์ เธอมีพลังงานเหลือล้นและกระตือรืนร้นในการทำงานอย่างมาก เธอเป็นคนประเภทที่ เมื่อได้รับโอกาสแล้วจะอุทิศทั้งชีวิตทั้งหมดเพื่อดาราศาสตร์
ในปี 1923 เธอกลายเป็นนักวิจัยอย่างเต็มตัวที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในแมสซาชูเซตส์ และอีก 2 ปีต่อมา เธอกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับปริญญาเอกที่วิทยาลัยแรดคลิฟฟ์ ด้านดาราศาสตร์ เพื่อที่จะได้ทำงานในหอสังเกตการณ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
สำหรับวิทยานิพนธ์ของเซซิเลียในครั้งนั้น เธอได้โต้แย้งความเชื่อเดิมๆ โดยเสนอทฤษฎีใหม่ว่า ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักคือฮีเลียมและไฮโดรเจน แน่นอนว่าการค้นพบของเธอถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เพื่อนนักดาราศาสตร์ของเธอนามว่า เฮนรี นอร์ริส รัสเซลล์ สงสัยเกี่ยวกับทฤษฎีนี้และโน้มน้าวให้เธอไม่นำเสนอวิทยานิพนธ์ของเธอ
แต่ปรากฏว่าเขาได้ขโมยผลงานของเธอไปใส่เป็นชื่อของตัวเอง งานวิจัยจำนวน 200 หน้าของเซซิเลียถูกปล้นไปและเธอไม่เคยได้รับเครดิตที่สมควรจะได้รับ ถึงแม้ในภายหลัง นักดาราศาสตร์จะจดจำผลงานของเธอได้ โดยงานวิจัยของเธอได้รับการยกย่องว่าเป็น “วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยถูกเขียนขึ้นมา”
และนั่นไม่ใช่ครั้งเดียวที่ผลงานการค้นพบของเธอถูกยับยั้งไม่ให้ถูกตีพิมพ์ ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกยกเลิกการตีพิมพ์ผลงานการค้นพบปรากฏการณ์สตาร์คในสเปกตรัมของดาวฤกษ์ที่ร้อนที่สุด รวมถึงการค้นพบ การดูดซึมระหว่างดวงดาว ที่เป็นการดูดซับแสงจากดวงดาวและวัตถุพื้นหลังโดยก๊าซและฝุ่นระหว่างดวงดาวในอวกาศ การค้นพบเหล่านี้ได้รับการยอมรับในภายหลัง และถูกนักวิทยาศาสตร์คนอื่นเอาเครดิตไปทั้งหมด
เซซิเลีย ได้รับตำแหน่งให้เป็นนักดาราศาสตร์จริงๆ ในปี 1938 จนกระทั่งในปี 1956 เธอกลายเป็นศาสตราจารย์หญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการภาควิชาดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ถึงแม้ว่าปัญหาการกีดกันทางเพศในอดีตจะรุนแรงมากๆ แต่เซซิเลียได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสามารถของเธอนั้นเป็นของจริง และสามารถก้าวขึ้นมายืนอยู่เหนือนักดาราศาสตร์ชายคนอื่นๆ ได้ เธอได้ปูทางให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ ได้ก้าวข้าวมาสู่อาชีพนักวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น และนี่คือ เซซิเลีย เพย์น-กาโพชคิน นักดาราศาสตร์หญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้นี้นี่เอง
สามารถติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมได้ข้างล่างครับ
ที่มา : boredpanda | เรียบเรียงโดย เพชรมายา